พาณิชย์ เตรียมแผนส่งเสริมส่งออก-ผลักดันเศรษฐกิจใหม่ พร้อมรับมือสงครามการค้า ชี้ไทยยังมีโอกาสทางอีกมาก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2019 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "New era of Thailand Trade & Tourism" ในงานสัมมนา Thailand Focus 2019 ว่า ปัจจุบันสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก รวมทั้งไทยที่เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก แต่ไทยมีจุดแข็ง คือ สินค้าส่งออกมีความหลากหลาย มีการกระจายสินค้าไปสู่ตลาดอื่นที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาด CLMV และอินเดียที่การส่งออกมีการเติบโตสูงในหลายกลุ่มสินค้า และแม้ว่าสงครามการค้าทำให้การส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนลดลง แต่สินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าที่ทดแทนสินค้าจีนยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดสหรัฐฯ ทำให้ผลกระทบของสงครามการค้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์เตรียมแนวทางรับมือสงครามการค้าและส่งเสริมการส่งออก 4 ด้าน คือ (1) การป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ไทยเป็นแหล่งสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า และเฝ้าระวังและป้องกันการไหลเข้าในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ฯ อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เครื่องจักรไฟฟ้าฯ ทองแดง และเคมีภัณฑ์ จากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภค

(2) บริหารจัดการตลาดและการส่งออก โดยมียุทธศาสตร์รักษาตลาดเดิม อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ อาเซียน ตะวันออกกลาง และฟื้นตลาดเก่าอาทิ อิรัก ซึ่งเคยทำการค้าข้าวกับไทยมาก่อนแต่มีเหตุให้หยุดชะงักไป

(3) การเจรจาการค้า ขณะนี้ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ และอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลง "อาร์เซ็ป" (RCEP) ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในปลายปีนี้ และกระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะเปิดการเจรจากับคู่ค้าอื่นๆ ที่มี ศักยภาพ อาทิ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ตลอดจนพิจารณาแนวทางการเข้าร่วมความตกลง "ซีพีทีพีพี" (CPTPP) ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการศึกษาในเร็วๆ นี้และ (4) ด้านการลงทุน ที่นอกจากจะต้องส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศและการลงทุนขาเข้าเพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าและอุตสาหกรรมของไทยแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้การลงทุนขาออกมีการนำสินค้าไทยออกไปอีกด้วย

นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างมูลค่าสูง โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Economy) ทั้งด้านสินค้าอาหารและไม่ใช่อาหาร ด้านเภสัชกรรม และการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเกษตรกรรมของไทย และเพิ่มมูลค่าภาคบริการจากภาคการค้าและการส่งออกให้มากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง การขนส่งและโลจิสติกส์การรักษาพยาบาล สุขภาพและความงาม ดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นต้น

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ ดังนี้(1) การปลูกฝังกระบวนคิดเชิงดิจิทัล (2) การพัฒนาทุนมนุษย์ (3) การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (4) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน และ (5) การพัฒนาอย่างครอบคลุมและทั่วถึงทุกภาคส่วน โดยภาครัฐมีหน้าที่สร้างความเข้มแข็งด้านการเชื่อมโยงในมิติต่างๆ ทั้งในด้านภูมิภาค ดิจิทัล การเงิน พลังงาน และระหว่างผู้คนด้วยกัน รวมทั้งผลักดันให้ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี สามารถน มาปรับใช้และปรับตัวไปสู่โลกแห่งเทคโนโลยียุคใหม่ได้รวมทั้งภาครัฐยังต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ ความร่วมมือกับประเทศในกลุ่ม CLMVT หรืออาเซียน โดยร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันทั้งภาคีภายนอกภูมิภาคและประชาคมโลก เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีพลวัตและยั่งยืนในทุกมิติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ