กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การที่ตลาดทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ซับไพรม์ในสหรัฐ รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างคาดไม่ถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนกว่าจะถึงเดือนก.ย.หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปถึงระดับไหน
นอกจากนั้น กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ยังกล่าวว่า BOJ อาจจะใช้มาตรการด้านเครดิตที่รัดกุมมากยิ่งขึ้นภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเฟดยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป BOJ ก็จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการกว้านซื้อเงินเยนซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นได้
โทรุ ซาซากิ หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของ J P Morgan Chase Bank และ เรอิ มาสึนางะ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ BOJ กล่าวว่า การเลื่อนเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ทำให้เกิดปัญหาใดๆ
"ตลาดคาดการณ์ไว้แล้วว่า BOJ จะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นแม้ BOJ จะไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในเดือนนี้ ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาหรือผลกระทบใดๆต่อตลาด" นายซาซากิกล่าว
ด้านนายมาสึนางะคิดว่า โทชิฮิโกะ ฟุคุอิ ผู้ว่าการ BOJ กำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตอนนี้ตลาดยังไม่มีเสถียรภาพ "ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตอนนี้คงไม่ใช่การกระทำที่ฉลาดนัก ไม่มีความจำเป็นที่ BOJ จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตอนนี้"
ทั้งนี้ ก่อนที่ตลาดทั่วโลกจะเผชิญกับความผกผันอย่างรุนแรง หลายคนคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นจากระดับ 0.5% ในปัจจุบัน ในระหว่างการประชุมด้านนโยบายของ BOJ ในวันพุธและพฤหัสบดีนี้ สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปรียพรรณ มีสุข/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์:
[email protected]