กระแสคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากมีการบรรลุข้อตกลงด้านงบประมาณเพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐในวันที่ 15 ม.ค. และหลังจากมีข้อมูลที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ รวมถึงตัวเลขจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเกินคาด และตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับติดลบ
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย.ของสหรัฐ ทรงตัวอยู่ที่ระดับเดิม หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าดัชนี CPI จะปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย.
นักวิเคราะห์คาดว่า การที่ดัชนี CPI ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย 2% นั้น อาจจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปได้ และอาจจะทำให้เฟดตัดสินใจลดขนาด QE หรือโครงการซื้อพันธบัตรซึ่งปัจจุบันมีวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน
เจย์ มอร์ล็อค นักเศรษฐศาสตร์จากเอฟทีเอ็น ไฟแนนเชียล กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ การผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตของสหรัฐยังแข็งแกร่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดเริ่มลดขนาด QE
ทั้งนี้ เฟดระบุในรายงานล่าสุด การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย.ปรับตัวขึ้น 1.1% ซึ่งพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 ปี และนับเป็นสัญญาณบ่งชี้ล่าสุดถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 0.8% แตะ 79.0% ในเดือนพ.ย.
ส่วนรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟดทั้ง 12 เขต หรือ Beige Book ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมาระบุว่าว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเล็กน้อยจนถึงปานกลาง ในระหว่างเดือนต.ค.จนถึงช่วงกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนส่วนใหญ่จากกิจกรรมด้านการผลิตและอสังหาริมทรัพย์
ส่วนกิจกรรมด้านการผลิตยังคงขยายตัวในเกือบทุกเขต โดยเฉพาะการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และเทคโนโลยีขั้นสูง ขณะเดียวกันมีรายงานยอดขายรถยนต์ทั่วประเทศปรับตัวสูงขึ้นในระดับปานกลางจนถึงแข็งแกร่ง ด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขยายตัวในเกือบทุกเขต แม้พื้นที่บางแห่งได้รับผลกระทบจากการปิดหน่วยงานบางส่วนของรัฐบาลกลาง ส่วนกิจกรรมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวขึ้นทั่วทุกเขต รวมถึงการก่อสร้างบ้านที่เพิ่มขึ้นในระดับปานกลางจนถึงแข็งแกร่ง สำนักข่าวซินหัวรายงาน