Spotlight: ตัวแทน "หัวเว่ย" ออกโรงโต้ข้อกล่าวหาทูตสหรัฐ ยืนยันอุปกรณ์ของบริษัทมีความปลอดภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 8, 2019 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตัวแทนอาวุโสของหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีของจีน ได้ออกมากล่าวตอบโต้การสร้างกระแสความหวั่นวิตกที่มีต่อบริษัท ซึ่งถือเป็นการแสดงความเห็นต่อสาธารณชนด้วยท่าทีที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยเกิดขึ้น

ในห้องบอลรูมที่กรุงบรัสเซลส์ซึ่งมีแขกกว่า 100 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปนั้น ผู้แทนของหัวเว่ยประจำสหภาพยุโรปได้ออกมาตอบโต้เพื่อปกป้องบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน

"เมื่อเร็วๆ นี้ หัวเว่ยได้ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องโดยบางประเทศและนักการเมืองบางคน เราตกใจหรือบางครั้งก็รู้สึกขบขันจากข้อกล่าวหาที่ไร้ความจริงและไร้เหตุผล" นายอับราฮัม หลิว รองประธานฝ่ายภูมิภาคยุโรปและหัวหน้าคณะผู้แทนของสถาบันในสหภาพยุโรปกล่าว

"ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวานนี้ นายกอร์ดอน ซอนด์แลนด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหภาพยุโรปกล่าวว่า บางคนในกรุงปักกิ่งอาจส่งคำสั่งระยะไกลให้รถยนต์คันหนึ่งขับออกนอกถนนบนเครือข่าย 5G และสังหารบุคคลที่อยู่ในรถคันนั้น ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นความฉลาดของผู้คน โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทั่วโลก" นายหลิวกล่าว

"การกีดกันหัวเว่ยออกจากตลาด ไม่ได้หมายความว่าเครือข่ายจะมีความปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น เพราะอุปกรณ์ของหัวเว่ยไม่ได้ถูกใช้ในเครือข่ายของสหรัฐ ดังนั้น สหรัฐจึงมีเครือข่ายที่ปลอดภัยที่สุดใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ใช่" นายหลิวกล่าว

นายหลิวกล่าวว่า หัวเว่ยมีประวัติการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ยอดเยี่ยม โดยอุปกรณ์ของบริษัทได้รับการพิสูจน์ด้วยการตรวจสอบย่างเข้มงวดจากหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ประกอบการจำนวนมาก

สำหรับหุ้นส่วนของหัวเว่ยในยุโรป ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ๆ เช่น ดอยซ์ เทเลคอม, บริติช เทเลคอม, โวดาโฟน, ออเรนจ์, โปรซิมัส และบริษัทอื่นๆนั้น หุ้นส่วนเหล่านี้ต่างก็รับรองความน่าเชื่อถื "ได้รับรองความไว้วางใจของพวกเขาที่มีต่อหัวเว่ยต่อสาธารณชน ผมขอยกย่องแนวทางที่เหมาะสมเหล่านี้" นายหลิวกล่าว

"ความปลอดภัยทางไซเบอร์ควรเป็นปัญหาทางเทคนิค แทนที่จะเป็นประเด็นทางด้านอุดมการณ์ เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคสามารถแก้ไขได้เสมอผ่านการแก้ไขที่ถูกต้อง ในขณะที่ปัญหาด้านอุดมการณ์ไม่สามารถแก้ไขได้" เขากล่าว

รัฐบาลและสื่อตะวันตกบางแห่งมีข้อสงสัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของและการกำกับดูแลของหัวเว่ย โดยนายหลิวได้ชี้แจงว่า "หัวเว่ยเป็นองค์กรเอกชนที่มีพนักงานเป็นเจ้าของอยู่ 100%" พร้อมกับเสริมว่า "ถ้าเราต้องการที่จะไล่ตามความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ เราก็ต้องปฏิบัติตามจริยธรรมทางธุรกิจของเราเอง เราไม่เคยทำร้ายผลประโยชน์ของลูกค้าหรือประเทศใดๆ"

นายหลิวกล่าวว่า หัวเว่ยมีพนักงานมากกว่า 12,000 คนในยุโรป ซึ่งมากกว่า 70% เป็นพนักงานในท้องถิ่น และในปี 2561 บริษัทได้ซื้อสินค้าและบริการมูลค่า 6.3 พันล้านดอลลาร์จากยุโรป

"สำหรับหัวเว่ยแล้ว ยุโรปเป็นบ้านหลังที่สองของเรา" เขากล่าว และเสริมว่า "ความสำเร็จของเราคือความสำเร็จของยุโรป การสูญเสียของเราก็จะเป็นการสูญเสียของยุโรปด้วยเช่นกัน"

"เราเต็มใจที่จะยอมรับการกำกับดูแลและข้อเสนอแนะของรัฐบาลยุโรป ลูกค้าและหุ้นส่วนทั้งหมด ถึงแม้ว่าหัวเว่ยไม่เคยมีเหตุการณ์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ร้ายแรงมาก่อนในอดีตที่ผ่านมา แต่ก็มีโอกาสสำหรับการปรับปรุงด้วยความสามารถด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของเรา" นายหลิวกล่าว

หัวเว่ยได้ผลักดันโปรแกรมการปรับปรุงเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเราจะจัดสรรเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ภายใน 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทจะเปิดศูนย์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่กรุงบรัสเซลส์ในเดือนหน้าด้วย

หัวเว่ยหวังที่จะแสดงให้เห็นถึงแนวทางที่โปร่งใสมากขึ้นว่า "เราเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา" นายหลิวกล่าว

ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้นำพาเทคโนโลยีรุ่นล่าสุด อีกทั้งการลงทุน การวิจัยและการพัฒนา ความเป็นหุ้นส่วน และการแข่งขันอย่างแข็งแกร่ง มาสู่ยุโรป" เขากล่าว

"มีคำกล่าวที่โด่งดังว่า 'ผมไม่เคยรู้จักคนที่ทำงานหนัก ขยันขันแข็ง รอบคอบและซื่อสัตย์ที่บ่นถึงเรื่องโชคร้าย' และ ในหัวเว่ย เราก็เชื่อเช่นนั้น การบ่นจะไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนของเราในยุโรปนั้น เท่ากับเรากำลังสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับพวกเราทุกคน" นายหลิวกล่าวในตอนท้ายของการปราศรัยของเขา ซึ่งได้รับเสียงปรบมือจากบรรดาผู้ฟัง

สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ