World Today: สรุปข่าวต่างประเทศประจำวันที่ 19 กันยายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 19, 2019 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ (18 ก.ย.) โดยระบุว่า ข้อมูลที่ได้รับนับตั้งแต่ที่คณะกรรมการ FOMC ประชุมกันในเดือนก.ค. บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นในระดับปานกลาง ทั้งนี้ การจ้างงานโดยเฉลี่ยมีความแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกัน แม้ว่าการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่ง แต่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจและการส่งออกได้ชะลอตัวลง

ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อรายปีนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน เคลื่อนไหวที่ระดับต่ำกว่า 2% สำหรับมาตรการแบบอิงตลาดที่ใช้สำหรับชดเชยปัจจัยเงินเฟ้อนั้น ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวบ่งชี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

-- นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เฟดจะไม่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต โดยระบุว่าเฟดเคยพิจารณาเรื่องดังกล่าวในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินปี 2551

"อัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นสิ่งที่เราเคยพิจารณาในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน และเลือกที่จะไม่ใช้" นายพาวเวลเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวในช่วงบ่ายวันพุธตามเวลาสหรัฐ

"หลังจากที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง เราเลือกที่จะดำเนินการตามมาตรการชี้นำล่วงหน้า (Forward Guidance) แบบเชิงรุก และเข้าซื้อสินทรัพย์จำนวนมาก และนั่นเป็นเครื่องมือนโยบายการเงินพิเศษ 2 ประการที่เราใช้อย่างกว้างขวาง" นายพาวเวลล์กล่าว โดยระบุว่า เครื่องมือดังกล่าวทำงานได้ค่อนข้างดี

"ผมไม่คิดว่า เราจะใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ผมไม่คิดว่านั่นจะอยู่ในอันดับสูงสุดในรายการนโยบายทางเลือกของเรา" นายพาวเวลระบุ

-- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในการประชุมวันนี้ แม้เผชิญแรงกดดันให้ดำเนินนโยบายตามธนาคารกลางของประเทศอื่นๆที่พากันผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน

ภายหลังการประชุมระยะเวลา 2 วันสิ้นสุดลงในวันนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ใกล้ระดับศูนย์ นอกจากนี้ ยังได้คงขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ในปริมาณมากเช่นกัน

-- สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตัวบทกฎหมายใหม่ เพื่อประเมินว่าฮ่องกงเป็นอิสระจากรัฐบาลจีนเพียงพอหรือไม่ในการดำรงสถานะการค้าพิเศษกับสหรัฐ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐอาจเปลี่ยนสถานะทางการค้าพิเศษของฮ่องกง เพื่อกดดันให้รัฐบาลจีนเลิกคุกคามกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

สถานะการค้าพิเศษของฮ่องกงนั้นถูกหยิบมาเป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลจีน หลังกลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงได้เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน เพื่อขอเสียงสนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลจีน โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวมองว่า รัฐบาลจีนได้ตักตวงผลประโยชน์จากสถานะการค้าพิเศษระหว่างฮ่องกงกับสหรัฐ และขอให้สหรัฐจัดการกับเรื่องนี้

-- คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางบราซิล (Copom) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Selic) ลงสู่ระดับ 5.5% จากระดับ 6% ในการประชุมครั้งล่าสุด

ทั้งนี้ ธนาคารกลางบราซิลได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ค. โดยในปีนี้ ธนาคารกลางบราซิลได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงโดยรวม 1% จนขณะนี้อัตราดอกเบี้ยได้ถูกปรับลดลงสู่ระดับ 5.5% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

-- นายสตีฟ บาร์เคลย์ รัฐมนตรีอังกฤษฝ่ายกิจการการแยกตัวออกจากยุโรป (Brexit) เปิดเผยว่า อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 31 ต.ค. ไม่ว่าจะสามารถทำข้อตกลงกับ EU ได้หรือไม่ก็ตาม

หลังจากที่ได้เข้าพบนายนิคอส อนาสตาเซียเดส ประธานาธิบดีไซปรัส ผู้สื่อข่าวได้ถามนายบาร์เคลย์ว่า อังกฤษพร้อมออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ต.ค. โดยปราศจากข้อตกลงหรือไม่ ซึ่งนายบาร์เคลย์ตอบว่า "ใช่"

นอกจากนี้ นายบาร์เคลย์ยังกล่าวอีกด้วยว่า เขารู้สึกยินดีที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างอังกฤษและไซปรัสมีความเหนียวแน่น

"ท่านประธานาธิบดีไซปรัสมีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับปัญหา Brexit และได้พูดถึงความประสงค์ของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้อตกลง ผมรู้สึกยินดีที่ท่านประธานาธิบดีเข้ามามีส่วนร่วมต่อปัญหานี้ เพราะว่าทั้งสองประเทศต้องการที่จะสร้างข้อตกลงบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และนั่นคือสิ่งที่เรากำลังดำเนินการ"

-- กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ทูตจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะจัดการเจรจาในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศ

รายงานดังกล่าวระบุว่า นายคิม จองฮัน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียและแปซิฟิคประจำกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีใต้จะเข้าพบกับนาย ชิเกกิ ทากิซากิ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่น ในวันศุกร์นี้

นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม นายคิมและทากิซากิจะหารือเกี่ยวกับประเด็นที่มีความกังวลร่วมกัน

-- สภาการค้าต่างประเทศแห่งชาติ (NFTC) ของสหรัฐประกาศจัดตั้งคณะปฏิรูปภาษีซึ่งจะทำงานร่วมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติเพื่อรับประกันว่าจะมีการกำกับดูแลด้านภาษีจากทางรัฐสภามากขึ้น และจะทบทวนการใช้อำนาจด้านภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ

นายรูฟัส เยอร์ซา ประธาน NFTC ระบุในแถลงการณ์ว่า "นับตั้งแต่ปี 2473 เป็นต้นมา ประเทศของเราพึ่งพาการเก็บภาษีศุลกากรอย่างหนักเพื่อพยายามเลือกผู้ชนะในตลาดสหรัฐ ขณะที่มองข้ามผลกระทบในวงกว้างสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ และเศรษฐกิจโดยรวมของเรา"

"รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจอย่างชัดเจนกับสภาคองเกรสในการควบคุมด้านการค้า เราเชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่สภาคองเกรสจะยืนยันอำนาจของตนเองอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการใช้อัตราภาษีเฉพาะในสถานการณ์ที่จำกัด และเฉพาะในกรณีที่มีฉันทามติกว้างขวางระหว่างสภาและคณะบริหาร ซึ่งการดำเนินการพิเศษดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวมของเรา" นายเยอร์ซากล่าว

NFTC เปิดเผยว่า คณะปฏิรูปภาษี ซึ่งรวมถึงสมาคมรถยนต์, ค้าปลีก, อาหารเกษตร และสมาคมการผลิตชั้นนำ จะทำงานร่วมกับสภาคองเกรสในการออกกฎหมายที่จะฟื้นฟูความสมดุลที่ยาวนานระหว่างสภาคองเกรสและฝ่ายบริหารในการกำหนดนโยบายการค้าของสหรัฐ

-- รายงานเศรษฐกิจประจำเดือนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้มีการเผยแพร่ในวันนี้ ระบุว่า ญี่ปุ่นเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่โรงงานน้ำมันในซาอุดีอาระเบียถูกโจมตี

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้คงระดับการประเมินเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในรายงานเดือนก.ย.ไว้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจ "มีการฟื้นตัวในระดับปานกลาง" ขณะที่ "การส่งออกยังอ่อนแอ"

รายงานดังกล่าวถูกจัดทำขึ้น หลังจากที่โรงงานน้ำมัน 2 แห่งในซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำมันในช่วง 4 เดือนหลังพุ่งขึ้นแตะ 63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สำนักงานคณะรัฐมนตรี ระบุว่า ญี่ปุ่นควรให้ความสำคัญกับ "ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น" นอกเหนือจากปัจจัยอื่น ๆ รอบโลก ซึ่งรวมถึงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และแนวโน้มเศรษฐกิจจีน

-- สำนักงานข้าหลวงรัฐมนตรีต่างประเทศจีนในรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (HKSAR) แสดงความโกรธเคืองรวมถึงต่อต้านคำพูดและการกระทำของนางเพโลซี โดยระบุว่า นางเพโลซีนั้น สมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มผู้ต้องการแบ่งแยกฮ่องกงอย่างชัดเจน และยุ่มย่ามกับกิจการภายในฮ่องกง ซึ่งที่จริงเป็นกิจการภายในของจีน โดยอ้างเรื่องการสนับสนุน "เสรีภาพและความยุติธรรม"

โฆษกระบุว่า "คำพูดและการกระทำของนางเพโลซีนั้นสวนทางคำกล่าวอ้างของนักการเมืองสหรัฐที่ระบุว่า สนับสนุน 'หนึ่งประเทศ สองระบบ' และเป็นการเปิดเผยความตั้งใจทางการเมืองที่แท้จริงที่ซ่อนเร้น"

นอกจากนี้ โฆษกยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ผู้ที่ไม่มีอคติจะรู้ว่า ได้มีการใช้นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" "ประชาชนฮ่องกงปกครองฮ่องกง" และให้ความเป็นเอกราชอย่างสูงในเขตปกครองพิเศษ (SAR) อย่างซื่อตรงมาตลอดนับแต่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่เมื่อ 22 ปีก่อน และประชาชนฮ่องกงกำลังมีความสุขกับประชาธิปไตย สิทธิและเสริภาพภายใต้กฎหมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ