จีนยืนยันการปกครองแบบ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของฮ่องกงเป็นโครงสร้างที่ถาวร

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 27, 2024 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (SCMP) รายงานว่า นายเซี่ย เปาหลง ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าเปิดเผยว่า การปกครองรูปแบบ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของฮ่องกงจะยังคงเป็น "โครงสร้างที่ถาวร" ในขณะที่ทางการจีนกำลังพยายามเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับฮ่องกง

SCMP รายงานโดยอ้างอิงผู้เข้าร่วมการประชุมระหว่างทางการจีนและหอการค้าท้องถิ่นและต่างชาติราว 40 แห่งว่า นายเซี่ยกล่าวเมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) ว่า หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ช่วยให้ฮ่องกงมีความแตกต่างจากเมืองอื่น ๆ ของจีน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าฮ่องกงได้รับการรับรองความเป็นอิสระอย่างมากในการปกครองตนเองจนถึงอย่างน้อยปี 2590 ภายใต้การจัดการทางการเมืองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การปราบปรามที่เกิดขึ้นได้บั่นทอนสิทธิดังกล่าวซึ่งเป็นรากฐานของความสำเร็จ โดยบรรดาผู้สังเกตการณ์รายสำคัญ ซึ่งรวมถึงนายสตีเฟน โรช อดีตประธานของมอร์แกน สแตนลีย์ เอเชีย ได้เรียกร้องทางการจีนให้ทุ่มเทกับการปกครองในรูปแบบดังกล่าวเพื่อฟื้นฟูการเติบโตของฮ่องกงอีกครั้ง

นายเซี่ยได้ออกเดินทางในทริปสำรวจฮ่องกงระยะเวลา 1 สัปดาห์ ในขณะที่ฮ่องกงกำลังผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับชุมชนการเงินเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจและนโยบาย

ในการประชุมกับตัวแทนจากภาคธุรกิจ นายเซี่ยได้เน้นย้ำถึงระบบตุลาการ ตลาดหลักทรัพย์ การมีอยู่ของธนาคารต่างชาติจำนวนมาก และความชำนาญในการใช้ภาษาอังกฤษของฮ่องกง ท่ามกลางข้อได้เปรียบต่าง ๆ ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวของเขาสะท้อนถึงคำมั่นสัญญาที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะธำรงไว้ซึ่งสถานะกึ่งการปกครองตนเองของฮ่องกง โดยปธน.สีกล่าวถึงนโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ในเดือนก.ค. 2565 ว่า "ไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ดีอยู่แล้ว และเราจะต้องยึดมั่นต่อนโยบายดังกล่าวในระยะยาว"

นายจอห์น ลี ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเปิดเผยกับนักข่าวเมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) ว่า เหล่าผู้แทนหอการค้าร่วมหารือกันในหัวข้อต่าง ๆ รวมถึง การบูรณาการระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ และร่างกฎหมายความมั่นคงซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อมาตรา 23 ระหว่างการประชุมกับนายเซี่ย

ทั้งนี้ การเดินทางของนายเซี่ยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับอนาคตทางการเมืองและเศรษฐกิจของฮ่องกง โดยฮ่องกงได้สูญเสียตำแหน่งตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกให้กับอินเดียในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากเงินทุนทั่วโลกกำลังหลั่งไหลออกจากจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ