In Focusเก็บตก"ความเคลื่อนไหวสำคัญ"ในเวทีอาเซียนซัมมิท บทสะท้อนอิทธิพลและบทบาทนานาประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 6, 2019 13:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปิดฉากกันไปแล้วกับการประชุมสุดยอดของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย ลาว บรูไน ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และอินโดนีเซีย พร้อมใจกันเข้าร่วมประชุม

นอกจากนี้ ยังมีผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากคู่ค้ารายสำคัญอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เพราะนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกแล้ว อาเซียนยังได้จัดการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ อาทิ การประชุม 10+1 และการประชุม 10+3 รวมถึงการจัดประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกระหว่างอาเซียนและอีก 8 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐและรัสเซีย

การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระดับสูงสุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเมื่อชาติสมาชิกผนึกกำลังกันแล้ว ก็ก่อให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจที่มีบทบาทในเวทีโลก ขณะที่สื่อต่างประเทศเองก็ให้ความสำคัญกับการประชุมนี้เช่นกัน เพราะนอกจากจะมีชาติอาเซียนเข้าร่วมแล้วก็ยังมีมหาอำนาจของโลกอย่างจีนกับสหรัฐร่วมด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวสำคัญในการประชุมครั้งนี้มีทั้งในประเด็นเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ว่าจะในประเด็นระดับภูมิภาคอย่างทะเลจีนใต้ ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ไปจนถึงการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดดังกล่าวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงพันธสัญญาของปธน.ทรัมป์ที่มีต่อภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค

*ที่ประชุม RCEP ประกาศความสำเร็จผลการเจรจา แม้อินเดียขู่ถอนตัว

หนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งนี้คือ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา แม้ว่า อินเดียจะยังคงมีประเด็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขก็ตาม

RCEP เป็นข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและพันธมิตรการค้าเสรี 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เมื่อเริ่มดำเนินการ RCEP จะกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งครอบคลุม 32.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลก และประชากร 3.5 พันล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยเศรษฐกิจของ RCEP คิดเป็นสัดส่วน 29.1% ของการค้าโลก และประมาณ 1 ใน 3 ของการลงทุนทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเปิดเผยว่า ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากสินค้าที่มีราคาถูกลงและหลากหลายมากขึ้นจากประเทศสมาชิก RCEP ขณะเดียวกัน RCEP ยังจะช่วยเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ สำหรับประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดในกล่ม เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า

อย่างไรก็ดี นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ตัดสินใจที่จะไม่ลงนามในความตกลงดังกล่าว เนื่องจากยังคงมีความเห็นต่างเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีศุลกากร การขาดดุลการค้าของอินเดีย และการตั้งกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

อินเดียมีความวิตกกังวลว่า ความตกลง RCEP ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกยกเลิกการจัดเก็บภาษีศุลกากร จะเปิดช่องให้สินค้าจากจีนไหลทะลักเข้าสู่อินเดีย รวมทั้งสินค้าด้านการเกษตรจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ ขณะเดียวกัน นายพิยุช โกยาล รัฐมนตรีการค้าอินเดีย เปิดเผยว่า อินเดียควรเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) แทน โดยรวมถึงสินค้าเกษตร สิ่งทอ และเครื่องประดับ

*อาเซียน-จีนกระชับความร่วมมือ ขณะหลายฝ่ายกังวลอิทธิพลจีนในภูมิภาค

ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ก้าวไปอีกขั้นเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ด้วยการประสานแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน (MPAC) 2568 และโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) เข้าด้วยกัน

ทั้งสองฝ่ายจะอาศัยข้อได้เปรียบของกันและกัน และทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระดมทุนทางการเงิน อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ส่งเสริมการเจรจาด้านนโยบาย และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เพื่อผลักดันการเชื่อมโยงทุกด้านในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ยังได้ทำข้อตกลงใหม่ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานกับชาติพันธมิตรรายสำคัญในอาเซียนอย่างกัมพูชาและลาวด้วย ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าเป็นการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในอาเซียน ทั้งยังมีรายงานข่าวว่าจีนได้คว้าสิทธิในการเข้าถึงฐานทัพเรือแห่งหนึ่งในกัมพูชาเป็นระยะเวลาถึง 30 ปี และหากเป็นเรื่องจริงแล้ว เท่ากับว่าจีนจะมีอิทธิพลในทะเลจีนใต้มากขึ้น ซึ่งน่านน้ำดังกล่าวเป็นน่านน้ำพิพาทระหว่างจีน บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม การที่จีนเข้ามามีสิทธิในฐานทัพเรือกัมพูชาครั้งนี้ อาจทำให้จีนมีแต้มต่อมากขึ้นในการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำสำคัญในการทำการค้าอย่างทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนได้อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนเผชิญกับความยากลำบากในการจัดการกับการที่จีนรุกล้ำทะเลจีนใต้ โดยเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้บางส่วน ต้องการให้ผู้นำอาเซียนออกแถลงการณ์ที่กล่าวถึงการที่จีนรุกล้ำน่านน้ำพิพาทดังกล่าว ทว่ากัมพูชาได้ออกมาคัดค้าน ซึ่งสื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า จีนได้ใช้กัมพูชาเป็นกระบอกเสียงในประเด็นนี้ เพื่อสกัดไม่ให้ชาติอาเซียนใช้การประชุมสุดยอดเป็นเวทีวิจารณ์รัฐบาลจีน

นอกจากนี้ การที่จีนประกาศว่าจะเป็นฝ่ายจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea หรือ COC) ระหว่างจีน-อาเซียน ยังก่อให้เกิดความกังวลว่า จีนจะใช้ประมวลดังกล่าวเสริมอิทธิพลของตนเองมากกว่าที่จะ "ป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกันในทะเลจีนใต้" อย่างที่นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 ที่กรุงเทพฯ

*"ทรัมป์" เมินประชุมอาเซียนสองปีติด ส่งสัญญาณลดความสำคัญชัดเจน

ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดที่สื่อต่างประเทศพากันตีข่าวคือ การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากที่เคยปฏิเสธไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปีที่ผ่านมาที่สิงคโปร์ด้วยเช่นกัน

ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนได้เปิดฉากขึ้น ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า นายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) แทนปธน.ทรัมป์ นับเป็นครั้งแรกที่การประชุม EAS จะไม่มีประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีจากสหรัฐเข้าร่วม นับตั้งแต่ที่สหรัฐเข้ามาเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมืออาเซียนอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 อันเป็นผลจากการที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียน

การตัดสินใจดังกล่าวอาจนำไปสู่การตั้งคำถามถึงพันธสัญญาของปธน.ทรัมป์ที่มีต่อภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาค โดยนายโอไบรอัน เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่สุดของสหรัฐเท่าที่เคยเข้าร่วมการประชุม EAS ซึ่งปกติแล้วเป็นการประชุมระดับผู้นำประเทศ ขณะที่ตัวแทนฝั่งสหรัฐได้อธิบายสาเหตุที่ปธน.ทรัมป์ ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมว่าเป็นเพราะเขาติดภารกิจหาเสียง ส่วนจีนนั้นได้ส่งนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวอย่างที่ทำประจำทุกปี โดยนายหลี่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสอง เป็นรองเพียงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เท่านั้น

การที่ปธน.ทรัมป์ไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ได้สร้างความผิดหวังต่อหลายๆ ประเทศในเอเชีย ซึ่งหวังให้สหรัฐเข้ามาสกัดอิทธิพลของจีนในภูมิภาค ส่งผลให้ผู้นำชาติอาเซียนหลายรายได้ปฏิเสธไม่เข้าร่วมการประชุมกับนายโอไบรอัน โดยส่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเข้าร่วมแทน มีเพียงผู้นำจากไทย ลาว และเวียดนามเข้าร่วมการประชุมกับตัวแทนสหรัฐ

การบอยคอตดังกล่าวส่งผลให้สหรัฐแสดงความกังวลเกี่ยวกับความพยายามของกลุ่มผู้นำอาเซียนที่จงใจทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ขายหน้า ทั้งยังเป็นการดูถูกนายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของปธน.ทรัมป์ ซึ่งได้รับการมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศไทยในนามของผู้นำสหรัฐ

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวไม่เปิดเผยนามจากฝั่งอาเซียนเปิดเผยว่า อาเซียนรู้สึกไม่พอใจและรู้สึกเหมือนโดนดูถูกจากการที่ปธน.ทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ โดยผู้นำอาเซียนเห็นตรงกันว่า หากปธน.ทรัมป์ติดภารกิจจริงๆ อย่างน้อยก็ควรส่งตัวแทนระดับรัฐมนตรีมาเข้าร่วมการประชุมแทนตน ไม่ใช่ที่ปรึกษาที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ ส่งผลให้ผู้นำอาเซียนเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามคำเรียกร้องของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเคยพยายามเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอาเซียนปกป้องการอ้างสิทธิ์ทางทะเลเพื่อขยายอิทธิพลและผิดกฎหมายของจีนในบริเวณทะเลจีนใต้ ต่อหน้าคณะผู้แทนจีนที่เข้าร่วมประชุมในกรุงเทพฯ โดยประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีน ได้ออกแถลงการณ์ที่ราบเรียบ ไม่มีเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาลจีนหรือสนับสนุนรัฐบาลสหรัฐแต่อย่างใด

*ส่งไม้ต่อให้เวียดนาม ประธานอาเซียนปี 2563

การประชุมสุดยอดในปีนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่อาเซียนและประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน รวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวและการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในเวลานี้ และอื่นๆ

แถลงการณ์หลังการประชุมระบุว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก อาเซียนให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่โปร่งใส เปิดกว้างครอบคลุม และระบบการค้าพหุภาคีที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์

สมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาจำนวนมากได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการค้าเสรี และพหุภาคี รวมถึงส่งเสริมการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งต่อไปนั้น จะมีขึ้นที่ประเทศเวียดนาม โดยเวียดนามจะเริ่มต้นทำหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากไทยในวันที่ 1 มกราคม 2563 และจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 และ 37 รวมถึงการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ในช่วงประมาณกลางปีและปลายปีหน้า

ทั้งนี้ กลุ่มอาเซียนก่อตั้งขึ้นในปี 2510 ซึ่งประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ