In Focusส่องนโยบาย America is back! สหรัฐกลับมาทวงคืนบัลลังก์ผู้นำโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 2, 2020 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า นายโจ ไบเดน วัย 78 ปี จะได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐในวันที่ 20 ม.ค. 2564 และไบเดนก็ไม่รอช้า เขาเดินหน้าชูนโยบาย "อเมริกากลับมาแล้ว" (America is back) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะนำพาสหรัฐกลับมาผงาดบนเวทีโลกอีกครั้ง

In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปวิเคราะห์กันว่า การที่ไบเดนฉีกทิ้งนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" (America First) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดำเนินมา 4 ปี และผลักดันนโยบายใหม่เพื่อจะทำให้สหรัฐกลับมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้งนั้น มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

*เปิดโผผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศ

ไบเดนประกาศเลือก แอนโธนี บลิงเคน (Antony Blinken) วัย 58 ปี เป็นรมว.ต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐ โดยบลิงเคนเคยเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงให้กับไบเดนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ และบลิงเคนยังเคยดำรงตำแหน่งรมช.ต่างประเทศซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของเขาในรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา นอกจากนี้ ไบเดนยังวางตัว อเลฮานโดร มายอร์คาส (Alejandro Mayorkas) วัย 61 ปี เป็นรมว.กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ, ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ (Linda Thomas-Greenfield) วัย 68 ปี เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ, เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) วัย 44 ปี เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ, แอวริล เฮนส์ (Avril Haines) วัย 51 ปี เป็นผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ และจอห์น แคร์รี (John Kerry) วัย 76 ปี ดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษของสหรัฐว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

*หันกลับไปซบอกพันธมิตร ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนานาชาติ

ไบเดนถือคติ มีมิตร ดีกว่ามีศัตรู ดังนั้น ภารกิจสำคัญอันดับต้นๆ ที่เขาจะทำก็คือ การกลับไปแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับฝ่ายต่างๆ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ทิ้งไว้ให้ โดยเฉพาะองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รวมถึงการกลับเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือกับนานาชาติ อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งถูกทรัมป์ตัดสัมพันธ์อย่างไม่เหลือเยื่อใย ขณะที่ไบเดนเองนั้นก็มีเป้าหมายที่จะสร้างบทบาทให้กับสหรัฐในฐานะผู้นำโลกในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย ไบเดนต้องการพลิกโฉมนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ที่เสียหายของสหรัฐ โดยจะพยายามให้สหรัฐกลับไปมีบทบาทบนเวทีโลกเหมือนกับที่บรรดาผู้นำสหรัฐในอดีต (ยกเว้นทรัมป์) เคยทำมา เพื่อที่สหรัฐจะได้ทวงคืนความเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้อีกครั้ง โดยไบเดนปฏิญาณว่า สหรัฐจะยึดมั่นในสถาบันระหว่างประเทศที่ร่วมก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และตั้งมั่นอยู่บนค่านิยมของความเป็นประชาธิปไตยร่วมกันระหว่างชาติตะวันตก ไบเดนได้กล่าวยืนยันในพิธีเปิดตัวทีมนโยบายต่างประเทศของเขาซึ่งจัดขึ้นที่รัฐเดลาแวร์เมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า "สหรัฐจะกลับมานั่งหัวโต๊ะอีกครั้ง โดยพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับศัตรู แต่จะไม่ละทิ้งชาติพันธมิตร"

*โลกจะเย็นลงหรือไม่ เมื่อสหรัฐกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส

ไบเดนประกาศว่า การต่อสู้กับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นภารกิจสำคัญด้วยเช่นกัน โดยเขาจะนำสหรัฐกลับเข้าร่วมในความตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกครั้งหลังจากทรัมป์สั่งสหรัฐถอนตัวเมื่อปี 2560 และไบเดนยังได้กางแผนการมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อใช้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามความตกลงปารีส โดยระบุว่าสหรัฐจะต้องสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด และสร้างงานหลายล้านตำแหน่งจากกระบวนการนี้

อย่างไรก็ตาม วู้ด แมคเคนซี บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านพลังงานระดับโลกแสดงความเห็นว่า เป้าหมายในการรับมือกับภาวะโลกร้อนของไบเดนคงจะไปไม่ถึงฝันที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลงเหลือศูนย์ก่อนปี 2593 หากไม่ได้รับความร่วมมือจากจีน

เกวิน ธอมป์สัน รองประธานฝ่ายพลังงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของวู้ด แมคเคนซีกล่าวว่า การตกลงเรื่องเป้าหมาย, การวัดความคืบหน้า และการลงโทษประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดโลกร้อนนั้น จะประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยความร่วมมือแบบพหุภาคี ซึ่งจีนจะมีส่วนสำคัญ ไม่เพียงในแง่ของนโยบายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศอื่นๆ ทำการเปลี่ยนแปลงด้วย

*เลิกกดดันอิหร่าน กลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์

ไบเดนคิดว่า นโยบายของทรัมป์ที่เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพื่อสร้างแรงกดดันขั้นสูงสุดนั้นใช้ไม่ได้ผล เพราะรังแต่จะทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังยั่วยุให้อิหร่านพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นด้วย

ไบเดนยืนยันที่จะให้สหรัฐกลับเข้าร่วมในข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและ 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่งได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ อีกครั้ง หลังจากที่ทรัมป์หันหลังให้กับข้อตกลงดังกล่าวในปี 2561

รัฐบาลสหรัฐภายใต้ทรัมป์ได้เพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้ขึ้นบัญชีดำภาคการเงินแทบทั้งหมดของอิหร่าน ทำให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการหยุดทำตามเงื่อนไขในการจำกัดกิจกรรมทางนิวเคลียร์

สหรัฐจะสามารถโน้มน้าวให้อิหร่านกลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อยุติโครงการนิวเคลียร์ได้หรือไม่นั้น เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่รัฐบาลไบเดนต้องดำเนินการในอีก 4 ปีข้างหน้านับจากนี้

*แสวงหาความร่วมมือ-ตรวจสอบ "จีน" ผ่านเวทีระหว่างประเทศ

ไบเดนจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ไปพร้อมๆ กับทำการตรวจสอบจีนโดยการเจรจาผ่านสถาบันระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และ G20 ซึ่งจะทำให้สหรัฐรับมือกับจีนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ไบเดนจะยังคงดำเนินการตามทรัมป์ในเรื่องของการต่อสู้กับอิทธิพลที่ก้าวร้าวทางเศรษฐกิจของจีน แต่ก็จะใช้เวทีระหว่างประเทศมากขึ้นในการเจรจาต่อรอง โดยหวังที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปีในยุคของทรัมป์

ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้ส่งสารแสดงความยินดีกับนายไบเดนที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ โดยผู้นำจีนเองก็แสดงความหวังว่า ความสัมพันธ์และความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างสหรัฐและจีนจะพัฒนาและมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากที่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนตึงเครียดขึ้นแทบทุกด้านโดยเฉพาะด้านการค้าและความมั่นคง

*สหรัฐจะหันมามองไทย-อาเซียนมากขึ้นเพื่อหามิตรสกัดอิทธิพลจีน

ไบเดนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐเคยเป็นตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐและประธานาธิบดีบารัค โอบามา เดินทางไปลงนามที่สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 เพื่อแสดงความเสียใจกับประเทศไทยเมื่อรัชกาลที่ 9 สวรรคต โดยได้ย้ำถึงมิตรภาพอันใกล้ชิดและยาวนานระหว่างไทยและสหรัฐ

นอกจากนี้ นโยบายการให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนที่มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลโอบามาซึ่งเป็นผู้นำสหรัฐที่เดินทางเยือนหลายประเทศอาเซียนรวมถึงไทยด้วยตัวเองนั้น ก็น่าจะเป็นการสัญญาณบ่งชี้ว่า ไบเดนน่าจะรู้จักและนำพาสหรัฐให้เข้าถึงประเทศไทยและอาเซียนได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าไบเดนจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไรกับไทยและอาเซียน แต่ประเทศไทยก็น่าจะต้องเลือกเดินสายกลาง และต้องไม่เลือกข้างระหว่างสหรัฐกับจีน เพราะไทยยังคงต้องพึ่งพาด้านการค้าและเศรษฐกิจกับจีน ขณะที่ไทยอาศัยความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐ แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ประเทศไทยคงจะต้องมองถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ