Media Talk: 4 เคล็ดลับบริหารมนุษย์ครีเอทีฟให้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์

ข่าวต่างประเทศ Monday August 1, 2016 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มนุษย์ครีเอทีฟถือเป็นหัวใจสำคัญเป็นของวงการตลาดและวงการสื่อสาร เพราะมีพรสวรรค์ในการทำให้ข้อมูลดิบที่ขาดสีสันกลายเป็นข้อมูลที่น่าสนใจขึ้นมาได้ อีกทั้งยังสามารถแปลงโฉมข้อมูลให้ออกมาเป็นรูปภาพ หรือบอกเล่าเรื่องราวที่สะกิดต่อมความสนใจ ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้มากกว่าการพรรณาข้อดีผลิตภัณฑ์เป็นข้อๆ ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ครีเอทีฟจึงเป็นทีมงานที่มีพรสวรรค์สำหรับทีมการตลาดและประชาสัมพันธ์

แต่คนทำงานด้านการวิเคราะห์ก็มีความสำคัญต่อทีมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เนื่องจากทีมงานทั้งสองสายช่วยเติมเต็มการไขปริศนากลยุทธ์การทำงานให้ลุล่วงไปได้ เพราะในขณะที่สายวิเคราะห์สามารถค้นหาและแสดงข้อมูลให้ปรากฎ สายครีเอทีฟก็สามารถคิดจินตนาการได้ว่า จะแปลงโฉมข้อมูลพวกนี้อย่างไร หรือข้อมูลเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเป็นอะไรได้บ้าง เรียกได้ว่า สายครีเอทีฟยังสามารถจินตนาการสิ่งที่ไม่มีอยู่ตรงนั้นได้

ทีมครีเอทีฟสามารถนำเสนอเรื่องราวให้มีความน่าสนใจและตรงใจกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งทำได้ไม่ยาก แต่เรื่องนี้ จะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่แตกต่าง

ถ้าพูดถึงเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานแล้ว เราอาจจะนึกถึงภาพห้องทำงานทีเต็มไปด้วยกระดานไวท์บอร์ด หน้าต่างบานใหญ่มองเห็นวิวภูเขา มีบีนแบ็กหลากหลายรูปแบบตั้งอยู่บนพื้น พร้อมด้วยบทเพลงเพื่อให้อารมณ์ผ่อนคลาย และกล่องใส่ปากกามาร์คเกอร์สีสันสดใสสำหรับถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่า สิ่งที่กล่าวถึงข้างต้นนี้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเสมอไป

เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทัศนคติและมนุษยสัมพันธ์

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญสำหรับสภาพแวดล้อมในการทำงานกับสายครีเอทีฟก็คือ “ความอดทน" ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปลูกความคิดสร้างสรรค์ให้พรั่งพรูออกดอกออกผล ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เร่งเร้าไม่ได้ และไม่ได้มีขึ้นในช่วงเวลาทำงานปกติเสมอไป แต่หากมีการวางแผนและชี้นำอย่างรอบคอบแล้ว สายครีเอทีฟก็จะสามารถทำงานได้ตามกำหนดเวลา และอาจส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อรายได้ด้วย

การบริหารทีมงานสายครีเอทีฟนั้น ศิลปะอย่างหนึ่งที่หัวหน้าจำเป็นต้องมีและต้องทำให้ได้เพื่อให้งานออกมาสำเร็จคือ การไม่ยึดตัวเองเป็นสำคัญ โดยทำความเข้าใจว่าผู้ที่ถูกจ้างมานี้มีความสามารถมากกว่าเรา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ในทุกๆด้าน แต่อย่างน้อยก็สามารถทำในสิ่งที่เขาได้รับมอบหมายได้ดีกว่า ข้อคิด 4 ประการต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ วิคตอเรีย ฮาร์เรส รองประธานฝ่ายการสื่อสารและคอนเทนท์เชิงกลยุทธ์ของพีอาร์นิวส์ไวร์ ได้จากการร่วมงานกับทีมครีเอทีฟ

*ปล่อยสมองและจิตใจให้ "ยืดหยุ่น"

เราจ้างทีมครีเอทีฟมาทำงาน เพราะต้องการคนที่มีความคิดนอกกรอบ คนที่ความคิดไม่ถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตความน่าจะเป็นแบบเดิมๆเหมือนคนทั่วไป แต่บางครั้งเรากลับทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับเหตุผลดังกล่าวตั้งแต่วันแรกที่เขาก้าวเข้ามา

เรามักแจ้งกฏของบริษัทและแนวปฏิบัติในการทำงานให้พวกเขาทราบตั้งแต่แรกเข้างาน แต่เมื่อไรก็ตามที่พวกเขาเริ่มคิดทำอะไรนอกกรอบ เราก็จะรู้สึกผิดหวังขึ้นมาทันที

ทั้งที่จริงๆแล้ว มีหลายครั้งที่ความคิดสร้างสรรค์มักฟังดูเพี้ยน ไร้สาระ เสียเวลา หรือซับซ้อนมากเกินไป แต่แทนที่จะปิดกั้นไอเดียเหล่านั้น คุณควรรับฟังและถามคำถามที่ช่วยดึงความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาออกมา เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่งต่อไป

นอกจากนี้ คุณควรหารือกับครีเอทีฟถึงไอเดียด้วยว่า แนวคิดที่ได้มามีความเชื่อมโยงกับธุรกิจอย่างไร ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทต้องการขายคืออะไร และรูปแบบวัฒนธรรมองค์กรในตัวของคุณเอง

การพูดคุยทำความเข้าใจจะช่วยเผยให้เห็นว่า แต่ละไอเดียนั้นมีวิธีการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกัน หรือไอเดียนั้นๆอาจเหมาะสมกับช่องทางการตลาดที่แปลกใหม่มากกว่า โดยความร่วมมือถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนไอเดียสุดเพี้ยน ให้กลายเป็นคอนเทนท์สุดเจ๋งได้

*รวบรวมคนที่มีความสามารถมาไว้ด้วยกัน

คุณไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ หากคุณไม่รู้จักรวบรวมคนที่มีความสามารถมาไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม และนั่นไม่ได้หมายถึงคนที่มีอะไรที่เหมือนๆกัน

ในการสร้างทีมครีเอทีฟนั้น ต้องมั่นใจว่าได้รวบรวมคนที่มีความสามารถในแต่ละด้านมาไว้ด้วยกันอย่างสมดุล นอกจากนี้สมาชิกควรมีอะไรบางอย่างคล้ายๆกัน เช่นมีความปรารถนาที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของกลุ่ม (ไม่ควรรับครีเอทีฟที่มีทัศนะขัดแย้งเข้ามาร่วมทีม เพราะเรากำลังสร้างทีม!) ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความแตกต่าง และความแตกต่างนั้นจะต้องมีประโยชน์กับสมาชิกคนอื่นๆมากเท่าที่จะทำได้

วิธีที่ดีที่สุดที่จะเติมเต็มซึ่งกันและกัน คือต้องมีความเข้าใจ สนใจ และแบ่งปันความสามารถร่วมกันระหว่างสมาชิกในทีมตั้งแต่เริ่มต้น นักเขียนควรสนใจที่จะเรียนรู้การใช้โปรแกรม Canva และ Photoshop ด้วย ส่วนดีไซน์เนอร์ก็น่าจะใช้เวลาว่างในการฝึกฝนศิลปะการเขียนบอกเล่าเรื่องราวเช่นกัน

*ให้ฟีดแบ็กต่อเนื่อง แต่ต้องเว้นระยะห่างให้เหมาะสม

บางคนอาจจะคิดว่า ทีมครีเอทีฟต้องการคำชมเชยมากมาย แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการครีเอทีฟคือการให้ฟีดแบ็กอย่างจริงใจและต่อเนื่อง ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่จะคำนวณว่า บทความนั้นๆเขียนออกมาดีหรือไม่ หรืออินโฟกราฟฟิกสามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านหรือไม่ ดังนั้น ฟีดแบ็กจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

การอธิบายว่าสิ่งต่างๆมีลักษณะหรือสอดคล้องกับเป้าหมายโดยรวมของทีมและแบรนด์อย่างไรนั้น มีความสำคัญสำหรับการช่วยทำให้ทีมครีเอทีฟสามารถทำงานตามแผนและเสร็จทันวันกำหนดส่ง

*ให้ความสนใจ และเป็นตัวแทนที่มีความคิดและเอาใจใส่

การรับฟังเป็นพรสวรรค์ที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้จัดการ ไม่ว่าผู้จัดการคนนั้นจะเป็นผู้นำของบุคลากรแผนกใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมครีเอทีฟซึ่งน่าจะเป็นทีมที่ต้องการสิ่งนี้มากที่สุด แต่นั่นไม่ใช่เพราะว่าบรรดาศิลปินเหล่านี้ไม่สามารถตัดสินใจใด ๆ เองได้ แต่นั่นเป็นเพราะการนำเอาความสร้างสรรค์มาปรับเข้ากับการทำงานด้านธุรกิจที่เป็นระบบนั้นต้องอาศัยความร่วมมือกัน ซึ่งกระบวนการสร้างสรรค์อาจจะต้องถูกจำกัดบ้างเพื่อให้มีขอบเขตและข้อกำหนดที่ชัดเจน

คุณคงไม่อยากกีดกั้นความคิดสร้างสรรค์ แต่คุณก็จำเป็นต้องคอยชี้แนะขอบเขตงานว่า จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์นั้นไปในทิศทางใด

กระบวนการความคิดสร้างสรรค์มักจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ความเสี่ยงบางครั้งก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและต้องพึ่งการฉีกกฎ แต่การฉีกกฎก็อาจเป็นสิ่งที่ขัดต่อวิถีของแบรนด์หลายๆแบรนด์

การช่วยกันออกความเห็น จะเปิดโอกาสให้ทีมครีเอทีฟได้ทำงานที่ท้าทายซึ่งเอื้อให้แบรนด์ของคุณบอกเล่าเรื่องราวอันทรงพลังได้โดยไม่ต้องหยิบคู่มือการสื่อสารในภาวะฉุกเฉินออกมาปัดฝุ่นใหม่

วิคตอเรีย ฮาร์เรส ผู้เขียนบทความนี้ เป็นรองประธานฝ่ายการสื่อสารและคอนเทนท์เชิงกลยุทธ์ของพีอาร์นิวส์ไวร์ ทีมของเธอนำโซเชียลมีเดีย การประชาสัมพันธ์ ความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างบล็อกมาใช้กับแบรนด์ ฮาร์เรสเป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์รุ่นแรก ๆ บน @PRNewswire และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของทีม

ที่มา: พีอาร์นิวส์ไวร์


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ