การอบรมด้านการทูตเชิงป้องกัน ในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ข่าวต่างประเทศ Friday October 10, 2014 16:30 —กระทรวงการต่างประเทศ

ไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา จัดการอบรมด้านการทูตเชิงป้องกัน ในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum Training Course on Preventive Diplomacy) ในวันที่ ๑๓-๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่กรุงปักกิ่งและเมืองนานจิง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ASEAN Regional Forum (ARF) Training Course on Preventive Diplomacy เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญเรื่องการทูตเชิงป้องกัน และเป็นการดำเนินการตามที่คณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กรมอาเซียน) รับผิดชอบขับเคลื่อนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกันซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายระยะเร่งด่วน (ตุลาคม ๒๕๕๗-ธันวาคม ๒๕๕๘)

การจัดอบรมการทูตเชิงป้องกันครั้งนี้มีหัวข้อหารือที่สำคัญได้แก่ “Development of ASEAN Preventive Diplomacy Cooperation and the ASEAN Way”, “Conflict Resolution in Asia and the Role of China”, และ “Asian Security Concept and Preventive Diplomacy” เป็นต้น

ARF เป็นเวทีหลักที่อาเซียนจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๗ เพื่อมีปฏิสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคงกับประเทศสำคัญนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ การดำเนินงานในกรอบ ARF เพื่อนำไปสู่เสถียรภาพในภูมิภาคมี ๓ ลำดับขั้น ได้แก่ ๑) มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence Building Measures- CBMs) ๒) การทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy- PD) และ ๓) แนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง (Approaches to Conflict Resolution) ปัจจุบัน ARF อยู่ระหว่างการก้าวสู่ขั้นที่ ๒ ซึ่งไทยเป็นประเทศอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันให้มีพัฒนาการในเรื่องนี้

ปัจจุบัน ARF มีสมาชิก ๒๖ ประเทศกับ ๑ กลุ่มประเทศ ประกอบด้วย สมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (Dialogue Partners) ๙ ประเทศกับอีก ๑ กลุ่ม ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย อินเดีย สหภาพยุโรป ผู้สังเกตการณ์พิเศษของอาเซียน (Special Observer) ๑ ประเทศ ได้แก่ ปาปัวนิวกินี และประเทศอื่นในภูมิภาค ๖ ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ปากีสถาน ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ และศรีลังกา

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ