กิจกรรมในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาอาเซียนและปาฐกถาพิเศษ โดยนายออง เค็ง ยอง (H.E. Ambassador Ong Keng Yong) อดีตเลขาธิการอาเซียน ในวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560 ณ กระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 31, 2017 13:41 —กระทรวงการต่างประเทศ

โดยที่ปี 2560 เป็นปีสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่อาเซียนก่อตั้งครบ 50 ปี กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ จึงมีแผนจัดกิจกรรมรำลึกโอกาสดังกล่าวตลอดทั้งปี โดยกิจกรรมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560

ในช่วงเช้า กรมอาเซียนจะจัดกิจกรรมในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาอาเซียน โดยจัดงานปาฐกถาพิเศษ (50th Anniversary of ASEAN Special Lecture Series) ในหัวข้อ “ASEAN in the Next 50 Years” โดยนายออง เค็ง ยอง อดีตเลขาธิการอาเซียน ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2546 – 2551 (ค.ศ. 2003 – 2008) ณ ห้องนราธิป โดยนายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน โดยมีคณะทูต ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ งานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกการครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาอาเซียน และหารือถึงทิศทางและการพัฒนาของอาเซียนในช่วง 50 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและความคาดหวังต่ออาเซียนในอนาคต พร้อมจัดแสดงนิทรรศการในโอกาสครบรอบ 50 ปี และงานเลี้ยงรับรองผู้เข้าร่วมงานปาฐกถา ณ ห้องวิเทศสโมสร โดยกรมอาเซียนจะมอบธรรมนูญอาเซียนและเอกสารวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 ฉบับภาษาเบรลล์ ให้แก่นายออง เค็ง ยอง ด้วย

ทั้งนี้ นายออง เค็ง ยอง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ของสิงคโปร์ ได้แก่ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ เอกอัครราชทูตประจำปากีสถาน และเอกอัครราชทูตประจำมาเลเซีย รวมทั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนระหว่างเดือนมกราคม 2546 ถึงเดือนมกราคม 2551 รวมวาระ 6 ปีและปัจจุบัน เป็นรองประธานบริหารของสถาบัน S. Rajaratanam School of International Studies ที่สิงคโปร์ (RSIS) ของมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University

กิจกรรมสำคัญครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึกครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาอาเซียน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรมรำลึกโอกาสดังกล่าวมาแล้วเป็นครั้งที่สาม เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในระดับชาติและเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับอาเซียนใน 50 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ กรมอาเซียนจะจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคด้วย ได้แก่ 1) การประชุมระดมสมองระหว่างผู้บริหารกรมอาเซียนกับผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาเซียนเพื่อเตรียมการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 โดยเชิญนักวิชาการจากศูนย์/โครงการอาเซียนศึกษา สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ เครือข่ายมหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการต่าง ๆ เพื่อร่วมกันหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือเชิงวิชาการตาม track 1.5 โดยมีเป้าหมายที่จะให้เป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ (deliverables) ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 และ 2) การหารือกับนายออง เค็ง ยอง อดีตเลขาธิการอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิของไทยกับนายออง เค็ง ยอง รวมทั้งการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกระทรวงฯ กับภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศด้านอาเซียน

ในโอกาสเดียวกัน อธิบดีกรมอาเซียนจะเป็นประธานการประชุมระดมสมองภายใต้หัวข้อ “Future Direction of ASEAN Plus Three Cooperation and the East Asia Economic community (EAEc) Idea: the Way Forward” โดยมีเลขาธิการศูนย์อาเซียน – จีน (ASEAN-China Centre – ACC) ศูนย์อาเซียน – ญี่ปุ่น (ASEAN-Korea Centre – AKC) และศูนย์อาเซียน – เกาหลี (ASEAN-Korea Centre – AKC) และผู้แทนประธาน Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ที่ห้องประชุม 3 กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในอนาคตของกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสาม เพื่อปูทางไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asia Economic community – EAEc) ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม และสนับสนุนบทบาทของไทยในการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562

นับจากนี้ ประเด็นที่จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นคือ ทิศทางในอนาคตของความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม โดยเฉพาะแนวความคิดเรื่องการจัดตั้ง EAEc ซึ่งหลายประเทศ รวมทั้งจีนและเกาหลีใต้ได้เริ่มผลักดันแนวคิด EAEc ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ที่กรุงมะนิลา โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เสนอว่าควรมีการศึกษาเรื้องนี้ด้วย ดังนั้น หากอาเซียนต้องการที่จะรักษาความเป็นแกนกลางของตนในเรื่องนี้ก็ควรต้องเริ่มพัฒนาแนวความคิดในเรื่องนี้ในโอกาสแรก ซึ่งไทยอาจเริ่มกระบวนการนี้โดยกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับ ACC AJC AKC และ ERIA เพื่อเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนผลประโยชน์ของไทยและอาเซียนในเรื่องอาเซียนบวกสามให้มากยิ่งขึ้น

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ