แถลงข่าวร่วมว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน+3 เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 4, 2009 14:25 —กระทรวงการต่างประเทศ

ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ในฐานะของประธานอาเซียนและผู้ประสานงานอาเซียน+3 ได้รับมอบหมายจากผู้นำอาเซียน+3 ให้ออกแถลงข่าวร่วม ว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน+3 เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก

ผู้นำอาเซียน+3 ได้ทบทวนผลการประชุมผู้นำอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 และหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบและสถานะล่าสุดของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในครั้งนี้

ผู้นำอาเซียน+3 แสดงความยินดีกับการแถลงการณ์ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกของผู้นำอาเซียน ที่ชะอำ หัวหิน ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 และเห็นว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเอเชียมีพัฒนาการที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากการปฎิรูปโครงสร้างที่สำคัญ ภายหลังวิกฤตการเงินในเอเชียระหว่างปี 2540-2541 อย่างไรก็ดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมาก ประกอบกับความกลัวต่อความเสี่ยงในตลาดการเงิน ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ความพยายามร่วมกันอย่างมากในการเสริมสร้างความเชื่อมั่น รักษาเสถียรภาพทางการเงิน และป้องกันการถดถอยทางเศรษฐกิจ

          ผู้นำยินดีกับผลการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2552        ซึ่งได้มีความคืบหน้าอย่างมากเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการเงินในภูมิภาคเป็น

ผู้นำยินดีกับการดำเนินมาตรการเชิงรุก รวมถึงมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและการคลังที่ดำเนินการโดยประเทศสมาชิก ในความพยายามร่วมกันเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้นำอาเซียน+3:

  • เห็นชอบกับมติของที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 ในการขยายวงเงินของกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralisation- CMIM) จาก 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมติของที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ซึ่งได้มีการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับองค์ประกอบหลักของ CMIM
  • ย้ำถึงความสำคัญของการเร่งรัดให้กองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว และยินดีกับข้อตกลงของการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 ซึ่งมีมติให้ดำเนินการจัดตั้ง CMIM ภายในสิ้นปี 2552
  • สนับสนุนข้อเสนอแนะของรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ว่า ในขณะที่กองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ยังอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง เครือข่ายข้อตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีอยู่แล้ว ควรมีบทบาทอย่างเต็มที่ในฐานะกลไกช่วยเหลือตนเองในระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ประเทศอาเซียน+3 สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกรณีที่จำเป็น หากมีประเทศสมาชิกใดประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและปัญหาดุลการชำระเงินในระยะสั้น
  • สนับสนุนการเสริมสร้างกลไกการตรวจสอบในระดับภูมิภาค โดยการจัดตั้งหน่วยตรวจสอบที่เป็นอิสระในระดับภูมิภาคโดยเร็วที่สุด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผลของกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ และติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกและภูมิภาค
  • ชื่นชมความพยายามที่กำลังดำเนินอยู่ภายใต้แผนงานฉบับใหม่ของมาตรการริเริ่มเพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asia Bond Markets Initiative — ABMI) ในการส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่น และสนับสนุนการเข้าถึงตลาดพันธบัตรในภูมิภาคที่กว้างขวางมากขึ้น และยินดีกับการเห็นชอบในการจัดตั้งกลไกค้ำประกันเครดิตและการลงทุนของภูมิภาค ( Credit Guarantee and Investment Mechanism- CGIM) โดยมีเงินทุนเริ่มต้น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการค้ำประกันพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นภายในภูมิภาคซึ่งออกโดยภาคเอกชน
  • ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (Multilateral Development Banks— MDB) ในด้านการพัฒนา และการสนับสนุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสินเชื่อเพื่อการค้า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้นำได้เรียกร้องให้มีการบรรลุข้อตกลงโดยเร็วเกี่ยวกับการเพิ่มเงินทุน ครั้งที่ 5 ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) เพื่อให้มั่นใจว่า ADB มีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินบทบาทของตนในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย
  • มอบหมายให้รัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 เฝ้าระวังติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินโลกและภูมิภาคอย่างใกล้ชิด ประเมินผลกระทบของวิกฤตในครั้งนี้ และเสนอแนะมาตรการป้องกันล่วงหน้าเพิ่มเติมในการแก้ไขวิกฤตอย่างเต็มที่และรวดเร็ว
  • เห็นตรงกันว่า นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ครอบคลุมรอบด้าน ประสานกันอย่างใกล้ชิดและเด็ดขาดรวดเร็ว เป็นสิ่งที่จำเป็นในการเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก และมอบหมายให้รัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป ในการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาความมั่นคงทางการเงิน
  • มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทางและวิธีการในการเพิ่มการค้าในภูมิภาค โดยการใช้มาตรการต่างๆ อาทิ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการหาแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนการค้า พร้อมทั้งการพัฒนามาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงโครงการช่วยเหลือทางสังคม และการให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
  • รับทราบว่า ข้อริเริ่มเพื่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia Free Trade Area —EAFTA) สามารถส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้นได้ ดังนั้นจึงมอบหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจเสนอรายงานสรุปการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกในระยะที่สอง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 13 ในเดือนตุลาคม 2552
  • ยืนยันถึงความยึดมั่นอย่างแข็งขันต่อการค้าเสรีและเป็นธรรม โดยการยืนหยัดอย่างมั่นคงที่จะต่อต้านมาตรการกีดกันทางการค้าและหลีกเลี่ยงการกำหนดอุปสรรคใหม่ๆ และจะร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนอื่นๆ เพื่อให้วาระการพัฒนารอบโดฮา (Doha Development Agenda) บรรลุข้อตกลงโดยเร็ว
  • เห็นพ้องว่า กรอบการหารือที่อาเซียนมีบทบาทนำในเอเชียและเอเชีย-แปซิฟิก จะช่วยปกป้องภูมิภาคนี้จากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในระดับโลกและภูมิภาคในอนาคต
  • มุ่งมั่นว่า ประเทศอาเซียน+3 จะดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ อาทิ EAS, APEC, และ G20
  • สนับสนุนผลการหารือและข้อตกลงของการประชุมสุดยอดลอนดอน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2552 เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น การเจริญเติบโตและภาวะการมีงานทำ ปฏิเสธการกีดกันทางการค้า ส่งเสริมการค้าและการลงทุนโลก เสริมสร้างความแข็งแกร่งของกฏระเบียบทางการเงินเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น ปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และการอัดฉีดเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของโลก ในการนี้ จึงตัดสินใจที่จะดำเนินการที่จำเป็นทั้งโดยแต่ละประเทศและรวมกันที่จะสนับสนุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กลุ่ม G20 ตั้งไว้

ออก ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2552 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ