รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10 - 14 มกราคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 17, 2011 11:36 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การจ้างงานเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ 38.2 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนพ.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม
  • สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์เดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท
  • ในวันที่ 12 ม.ค. 54 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 2.25
  • ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.5
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ธ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 71.9
  • อัตราการว่างงานประเทศสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 53 อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 19 เดือนที่ร้อยละ 9.4 ของกำลังแรงงานรวม
  • GDP สหภาพยุโรป ในไตรมาสที่ 3 ปี 53 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.9 หรือขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.3
  • การส่งออกและการนำเข้าของประเทศจีน ในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 17.9 และร้อยละ 25.6 ตามลำดับ

Indicators next week

 Indicators                         Forecast            Previous
Dec: TISI (Level)                     100.0               99.7
  • ตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม และภาคการส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง
 Indicators                          Forecast            Previous
Dec: Passenger car sales (%yoy)        42.0                39.7
Dec: Commercial car sales (%yoy)       35.0                37.3
  • โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) กำลังซื้อของประชาชนที่อยู่ในเกณ์ดี ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและ 2) ความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
Economic Indicators: This Week

การจ้างงานเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ 38.2 ล้านคน ลดลงประมาณ 1.5 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่า หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.4 โดยการจ้างงานภาคเกษตรมีจำนวน 15.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.3 แสนคน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกว่าปีที่ผ่านมาทำให้พืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้มีผลผลิตออกมามาก ขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 7.6 ล้านคนลดลง1. 8 แสนคน จากสาขาการผลิตไม้ สาขาการผลิตผลิตภัณฑ์จากโลหะประดิษฐ์ และสาขาการผลิตสิ่งทอ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนพ.ย.53 ที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 63.6 ของกำลังการผลิตรวม และการจ้างงานภาคบริการมีจำนวน 15.4 ล้านคนลดลง 9.5 หมื่นคน จากสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร สาขาบริการสุขภาพและคนรับใช้ ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า การจ้างงานลดลงจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 2.8แสนคน จากการจ้างงานภาคการเกษตรที่ลดลงตามปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนพ .ย .53 อยู่ที่ร้อยละ 1.0ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 3.9 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานในภาคบริการ 1.0 แสนคน ภาคอุตสาหกรรม 9.0 หมื่นคนภาคการเกษตร 1.1 แสนคน และผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 9.0 หมื่นคน

สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์เดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 แสนล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวเร่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินฝาก โดยมีปัจจัยหลักมาจากเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากวิเคราะห์ด้านของเงินฝากจะพบว่าเงินฝากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (หักปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ในขณะที่สินเชื่อขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (หักปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากความต้องการสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูง ตามเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม เงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นกว่า 8 หมื่นล้านบาทในเดือน พ.ย. 53 โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมจากต่างชาติที่ส่งผลให้สภาพคล่องโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น

ในวันที่ 12 ม.ค. 54 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือน ก.ค.53 โดยได้ประกาศปรับขึ้นจากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 2.25 โดย กนง.ให้เหตุผลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ว่า เป็นผลจากการที่ (1)เศรษฐกิจไทยขยายตัวเข้าสู่แนวปกติ และ (2) แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันแรงกดดันด้านราคาที่มาจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าจะมีมากขึ้นตามลำดับ

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัวร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.5 โดยได้รับปัจจัยบวกจากกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จาก รายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ปริมาณการจำ หน่ายรถจักรยานยนต์ในปี 2553 ขยายตัวได้ในระดับสูงร้อยละ 19.9 จากปีก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.9 บ่งชี้ว่าการบริโภคภาคครัวเรือนในปี 2553 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ธ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 71.9 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 70.3 โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ 2) รายได้ภาคครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์ดี จากราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง และ 3) ความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล เช่น การต่อมาตรการลดค่าครองชีพ รวมถึงมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2553 อยู่ระดับ 70.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552 ที่อยู่ระดับ 67.2

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ธ.ค. 53 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 99.7 โดยมีสาเหตุหลักจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า มีส่วนช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการส่งออก ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่จะทำการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนธ.ค. 53 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 42.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนพ.ย. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 39.7 โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และ2 ) ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงความนิยมจากรถที่มีขนาดใหญ่ มาเป็นรถที่มีขนาดกลางและเล็กมากขึ้น

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนธ.ค. 53 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 35.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนพ.ย. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 37.3 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนและความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

Global Economic Indicators: This Week

USA: improving economic trend
  • อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 53 อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 19 เดือนที่ร้อยละ 9.4 ของกำลังแรงงานรวมเนื่องจากจำนวนแรงงานที่ลดลงประกอบกับการจ้างงานชั่วคราวเพื่อการสำรวจสำมโนประชากรที่เพิ่มขึ้นกว่า 297,000 ตำ แหน่ง สอดคล้องกับตำแหน่งงานนอกภาคเกษตร (Non-Farm Payrolls) ในเดือนธ.ค. 53 ที่เพิ่มขึ้น 103,000 ตำแหน่งงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 71,000 ตำแหน่งงาน
Eurozone: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 53 ขยายตัวจากช่วงเดีวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.9 หรือขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.3 จากการเพิ่มขึ้นของการสะสมสินค้าคงคลังและอุปสงค์ภายในประเทศอัตราการว่างงานในเดือน พ.ย. 53 สูงที่สุดในรอบ 12 ปีที่ร้อยละ 10.1 ของกำลังแรงงานรวม แม้ว่าอัตราการว่างงานในเยอรมันจะคงที่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 19 ปีที่ร้อยละ 6.7 ของกำลังแรงงาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 7.4 หรือขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.2 บ่งชี้ภาคการผลิตที่ยังเติบโต
China: mixed signal
  • การส่งออกและการนำเข้าเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 17.9 ต่อปี และร้อยละ 25.6 ซึ่งชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้าลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 13.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Australia: improving economic trend
  • การส่งออกเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 35.1 ต่อปี ตามความต้องการในระดับสูงของสินค้าโภคภัณต่าง ๆ เช่น แร่เหล็กและถ่านหิน จากจีน ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 53 ที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ทีร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม อย่างไรก็ดีปัญหาน้ำท่วมหนักสุดในรอบกว่า 50 ปี ในรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีผลผลิตถ่านหินและแร่เหล็กสูงสุดในออสเตรเลีย อาจส่งผลต่อภาคการส่งออกและการบริโภคเอกชนในระยะต่อไปได้
Philippines: improving economic trend
  • การส่งออกเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 11.2 ต่อปี จากการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิคส์เป็นสำคัญ
South Korea: improving economic trend
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.75 โดยให้เหตุผลว่าเป็นผลจากการที่ แรงกดดันจากระดับราคาผนวกกับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (inflation expectation) ได้เพิ่มขึน ด้านอัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่การจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 455,000 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่กำลังแรงงานเพิ่มขึ้น
India: improving economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวชะลอลงในรอบ 18 เดือน ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
Weekly Financial Indicators
  • ตลาดหลักทรัพย์ของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยเป็นแรงซื้อจากนักลงทุนทั่วไปในประเทศขณะที่แรงขายหลักมาจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสัปดาห์ก่อน ส่วนความเคลื่อนไหวในตลาดพันธบัตรของไทยมีความเคลื่นไหวมากขึ้นหลังจากที่ กนง. ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทำ ให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การซื้อขายเป็นแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มเทขายหลังจากที่ซื้อสุทธิมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี
  • ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร โดยดัชนีค่าเงินบาท(NEER) ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ 1.17 แสดงให้เห็นว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญแล้ว ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลง และเป็นการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ