รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 26, 2013 11:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 เมษายน 2556

Summary:

1. กรุงไทยเผยอานิสงส์แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดันดัชนีเชื่อมั่นนักธุรกิจเป็นบวก

2. GDP เกาหลีใต้ ไตรมาส 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. มูลค่าการนำเข้าของฟิลิปปินส์ เดือน ก.พ. 56 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเดือน ม.ค.

Highlight:

1. กรุงไทยเผยอานิสงส์แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดันดัชนีเชื่อมั่นนักธุรกิจเป็นบวก
  • รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Krung Thai Business Index: KTBI) ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 56 ซึ่งฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ได้สำรวจความเชื่อมั่นของนักธุรกิจจากทั่วประเทศจำนวนกว่า 2,200 ราย พบว่านักธุรกิจส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจและธุรกิจโดยรวมจะยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี เนื่องจากดัชนีอยู่ในระดับ 54.98 จุด ซึ่งยังสูงกว่าระดับ 50 จุด ผลจากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งมผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 55.58 ในไตรมาส 4 ปี 55 เนื่องจากนักธุรกิจกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤติหนี้ยุโรปที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในไซปรัส รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและรายได้จากการส่งออก นอกจากนี้ ภัยแล้งและการแข่งขันในธุรกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นนักธุรกิจ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1 ปี 56 มีสัญญาณการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยจะเห็นได้จากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจด้านการบริโภค อาทิ ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวดีที่ร้อยละ 13.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนอีกทั้ง ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 101.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาล บ่งชี้ว่าการบริโภคสินค้าทั่วไปและสินค้าคงทนยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ เครื่องชี้ภาคการลงทุนภาคเอกชนยังคงบ่งชี้การขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวดีที่ร้อยละ 19.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้งยอดภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวดีที่ร้อยละ 32.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 56 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ในยามที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูง
2. GDP เกาหลีใต้ ไตรมาส 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ทางการเกาหลีใต้ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในไตรมาสแรกของปี 56 นี้ ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลหลักจากการส่งออกไปยังจีนและยูโรโซนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศเป็นไปในทิศทางที่ชะลอลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 55 ขยายตัวชะลอลงเนื่องจากอุปสงค์นอกประเทศที่ชะลอตัวส่งผลกระทบผ่านช่องทางการค้าที่หดตัวลงเป็นสำคัญ โดยการส่งออกเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 53.0 ของ GDP ในปี 55 เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ทำให้ในไตรมาส 1 ปี 56 นี้ ภาคการค้าระหว่างประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ GDP เกาหลีใต้ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยดังต่อไปนี้ (1) ประเด็นการประกาศสงครามในคาบสมุทรเกาหลี อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความเชื่อมั่นและส่งผลกระทบผ่านทั้งช่องทางการค้าและการลงทุนเป็นหลัก และ(2) ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกของเกาหลีใต้ที่ลดลงได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ภายใต้การนำของนาง Park Geun Hye ประธานาธิบดีคนล่าสุดของเกาหลีใต้ ยังคงกดดันให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นปัจจัยเอื้อต่อการลงทุนของภาคธุรกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ เดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี) ซึ่งเป็นประเด็นต้องติดตามต่อไป
3. มูลค่าการนำเข้าของฟิลิปปินส์ เดือน ก.พ. 56 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเดือน ม.ค.
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์รายงานมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือน ม.ค. 56 ที่หดตัวร้อยละ -7.9 อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่หดตัวมากกว่าการนำเข้าส่งผลให้ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้าในเดือน ก.พ. 56 มูลค่า -967.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่ามูลค่าการนำเข้าของฟิลิปปินส์ในเดือน ก.พ. 56 หดตัวเนื่องจากการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (คิดเป็นร้อยละ 20.2 ของมูลค่าการนำเข้ารวม) ที่หดตัวถึงร้อยละ -10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนโดยตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (คิดเป็นร้อยละ 30.9 ของมูลค่าการส่งออกรวม) ในเดือนเดียวกันที่หดตัวร้อยละ -31.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่พึ่งพาการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนร้อยละ 70.5 ของ GDP (สัดส่วนปี 55) อีกทั้งเครื่องชี้ที่สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนฟิลิปปินส์ เช่น ยอดขายรถยนต์ในเดือน ก.พ. 56 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 34.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน บ่งชี้ให้เห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศของฟิลิปปินส์ยังคงสามารถขยายตัวได้ ถึงแม้ภาคการส่งออกจะหดตัว ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56 ว่าในปี 56 GDP ของฟิลิปปินส์จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.1 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.6-5.6)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ