รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 26, 2013 13:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2556

Summary:

1. หม่อมอุ๋ยแนะแก้บาทแข็งต้องแรง เร็ว และไม่กระทบตลาดหุ้น

2. ก.แรงงาน มั่นใจค่าแรง 300 บาทมาถูกทาง แต่อาจมีผลกระทบในช่วงแรก

3. อิตาลีเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงในเดือนมี.ค. ขณะการเมืองยังไม่ชัดเจน

Highlight:

1. หม่อมอุ๋ยแนะแก้บาทแข็งต้องแรง เร็ว และไม่กระทบตลาดหุ้น
  • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวลานี้ว่าน่าจะมีการเข้ามาแทรกแซงเป็นระยะๆ ทำให้ค่าเงินบาทไม่ได้แข็งจนเกินไป ส่วนมีความจำเป็นแล้วหรือยังที่ ธปท.จะต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า นั้น ม.ร.ว.ปรียาธร กล่าวว่า ตนขอบอกตามตรงว่าไม่รู้เลยจริงๆ เพราะไม่ได้มีข้อมูลวงใน แต่เท่าที่ได้คุยกับจากทั้งคนในกระทรวงการคลัง และธปท.หลายคน ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะพยายามไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งจนเกินไป แต่โจทย์ที่ตั้งไว้ก็คือ จะต้องไม่ไปกระเทือนกับตลาดหุ้นอย่างเด็ดขาด เพราะตลาดหุ้นกำลังเดินไปในทิศทางที่ดี และไปในลักษณะที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ทำให้ธุรกิจหลายอย่างสามารถใช้เงินจากตลาดหุ้นไปขยายธุรกิจได้
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเนื่องจากมีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลโดยเฉพาะพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ(Inflation Linked Bond : ILB)เป็นจำนวนมาก ทำให้ค่าเงินบาทหลุดแนวรับที่สำคัญที่ 29.7 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ลงมาอยู่ที่ 29.2 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นการแข็งค่าขึ้นจากต้นปีร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 จะทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกให้ลดลง ทั้งนี้สศค.จะมีการปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกใหม่อีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค.56 เพื่อให้คลอบคลุมผลกระทบดังกล่าว
2. ก.แรงงาน มั่นใจค่าแรง 300 บาทมาถูกทาง แต่อาจมีผลกระทบในช่วงแรก
  • รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นโยบายการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ เป็นนโยบายที่ดีที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งต่อไปในอนาคตจะมีการเปิด AEC ซึ่ง นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้แรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีประสิทธิภาพในการ ทำงานที่สูง นอกจากนี้ยังยืนยันว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นการเอาเปรียบนายจ้าง เนื่องจากหากนายจ้างต้องแบกรับภาระจนถึงขั้นปิดกิจการ ผู้ใช้แรงงานก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นอาจจะมีผลกระทบบ้างเล็กน้อยบางส่วนในช่วงแรกของการปรับตัว แต่เชื่อว่าต่อไปในอนาคตสถานประกอบการจะสามารถปรับตัวได้และจะเกิดผลดีต่อ สภาพเศรษฐกิจโดยรวม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายการปรับเพิ่มค่าแรง 300 บาท ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเด็นสำคัญคือ 1)ด้านต้นทุนการผลิต คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.6 โดยเฉพาะ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม และ 2) อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จากกรณีฐาน อย่างไรก็ดี ในระยะยาวแล้ว คาดว่านโยบายดังกล่าวจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ลูกจ้างมีความตื่นตัวมากขึ้นในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง
3. อิตาลีเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงในเดือนมี.ค. ขณะการเมืองยังไม่ชัดเจน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (Istat) เปิดเผยวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอิตาลีในเดือนมี.ค.ลดลงแตะ 85.2 จาก 86.0 ใน เดือนก.พ. โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงแทบทุกด้าน โดยดัชนีย่อยที่ประเมินแนวโน้มทางเศรษฐกิจปรับตัวย่ำแย่ที่สุด ขณะที่ดัชนีคาดการณ์เกี่ยวกับการจ้างงานเลวร้ายลง หลังจากที่เมื่อต้นเดือนนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีลง 1 ขั้น สู่ระดับ BBB+ พร้อมกับให้แนวโน้มเชิงลบ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่ผลการเลือกตั้งของอิตาลีในเดือนที่แล้วยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งบ่งชี้ว่าชาวอิตาลีจำนวนมากต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ขณะที่ไม่มีพรรคการเมืองใดครองที่นั่งได้มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งปัจจัยความไม่แน่นนอนทางการเมืองดังกล่าว จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการปรับลดหนี้ของอิตาลี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังกังวลเนื่องจากปัจจุบันอิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากเยอรมนี ฝรั่งเศส โดยมี GDP ประมาณ 1.58 ล้านล้านยูโร แต่มีหนี้สาธารณะถึงร้อยละ 121 ของ GDP

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ