รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 20, 2013 14:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. พาณิชย์เผย กลุ่มผู้ค้าก๊าซหุงต้มเตรียมปรับราคา

2. ยอดการผลิตรถยนต์เดือนเม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 17.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี

Highlight:

1. พาณิชย์เผย กลุ่มผู้ค้าก๊าซหุงต้มเตรียมปรับราคา
  • อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า หากกระทรวงพลังงานประกาศปรับขึ้นราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้มเดือนละ 50 สตางค์ เป็นเวลา 1 ปี กลุ่มผู้ค้าก๊าซจะปรับราคาจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้นถังละ 5 บาท (ขนาดบรรจุ 15 กิโลกรัม รวมค่าขนส่งระยะไม่เกิน 5 กิโลเมตร) ซึ่งจะทำให้ราคาปลายทางอยู่ที่ราคาถังละ 300 บาทในเดือนแรก ส่วนในเดือนถัดไปจะมีการปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นถังละ 7.50 บาท โดยการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถซื้อก๊าซได้ในราคาเดิมนั้นขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการที่เหมาะสม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐได้มีการปรับราคาพลังงานหลายชนิด อาทิ ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ก๊าซ NGV รวมถึงก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม คงเหลือเพียงราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนที่ยังมีการตรึงราคาอยู่ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้ต้นทุนที่แท้จริงต้องอ้างอิงตามราคาตลาดโลก การตรึงราคาก๊าซ LPG จึงสร้างภาระต่อภาครัฐผ่านกองทุนน้ำมันฯ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน โดยจากมาตรการ จะมีการปรับราคาขึ้นกิโลกรัมละ 0.5 บาททุกเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ดี ทางรัฐได้มีมาตรการรองรับสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยให้สามารถซื้อก๊าซได้ในราคาเดิม โดยประเมินจากผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนที่มีประมาณ 7.6 ล้านครัวเรือน และกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ยังสรุปตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้ (กระทรวงพลังงานรายงานประมาณ 1.7 แสนราย แต่กรมการค้าภายในกล่าวว่าอาจจะมีถึง 5 แสนราย)
2. ยอดการผลิตรถยนต์เดือนเม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 17.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงาน ยอดการผลิตรถยนต์เดือนเม.ย. 56 อยู่ระดับที่ 170,438 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 17.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วง4 เดือนแรกปี 56 ยอดการผลิต ขยายตัวร้อยละ 38.4 ขณะที่ยอดขายในประเทศเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ 109,658 คัน หรือเพิ่มขึ้น 24.9 โดยในช่วง 4 เดือนแรก ปี 56 ยอดขายรถยนต์ในประเทศขยายตัวร้อยละ 42.4 ส่วนยอดส่งออกเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ 67,641 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรก ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 27.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดผลิตรถยนต์ในเดือน เม.ย. 56 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและความต่อเนื่องของนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายรถยนต์คันแรก สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน โดยได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การทยอยส่งมอบรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกที่มียอดค้างอยู่ (2) การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม และ (3) ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้คาดว่าในปี 56 ยอดผลิตและยอดขายรถยนต์จะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการบริโภคเอกชน ทั้งนี้ ในปี 56 การบริโภคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.1- 5.1 ประมาณการ ณ เดือน มี.ค.56)
3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (The Thomson Reuters/University of Michigan Preliminary Index of Consumer Sentiment) เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นมาเป็น 83.7 จาก 76.4 ในเดือน เม.ย. ถือเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนก.ค. 2550 ความเชื่อมั่นที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้มีสาเหตุหลัก 2 ประการ ประการแรก ปัญหาการว่างงานที่ลดลง โดยในเดือน เม.ย. จำนวนผู้ว่างงานในสหรัฐฯได้ลดลงใน 40 รัฐทั่วประเทศและ ประการที่สอง Positive balance sheet effect ที่ทำให้ความมั่งคั่งของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคาบ้านที่ปรับสูงขึ้น และภาวะกระทิงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ชาวอเมริกันมีความมั่นใจในเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้แม้ว่ารัฐบาลจะกำลังเผชิญกับการตัดลดงบประมาณในทุกหน่วยงาน (Sequestration) ก็ตาม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากสหรัฐฯผ่านพ้นอุปสรรคทางการคลัง รวมไปถึงปัญหาการว่างงาน และการฟื้นฟูเสถียรภาพของภาคการเงินไปได้ เศรษฐกิจสหรัฐฯพร้อมที่จะกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น จากการที่มีความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนและทรัพยากรทางพลังงานมหาศาลเป็นพื้นฐานสำคัญ บทความโดย โอลิวิเยร์ บลองชาร์ด และ ดาเนียล เลห์ ของ IMF (Fiscal Consolidation: At what speed?) ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้สหรัฐฯสามารถฟื้นตัวท่ามกลางการกดดันจากสถานการณ์ทางการคลังได้ เพราะ มีพื้นฐานกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์ในยุโรปต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง สถานการณ์ในลักษณะนี้ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) จะลดการสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านมาตรการ QE อย่างไรก็ดีFed ยังคงยืนยันว่าจะรักษานโยบายการเงินหลักคืออัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ (ใกล้ศูนย์) ต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ