รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2013 11:08 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯไทย เม.ย. 56 หดตัวร้อยละ 3.84 เมื่อเทียบปีก่อน

2. บลจ.กรุงไทยคาดว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปีนี้มีโอกาสทดสอบ 1,750 จุด

3. ยอดขายปลีกของอิตาลีในเดือน มี.ค. 56 หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.3

Highlight:

1. สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯไทย เม.ย. 56 หดตัวร้อยละ 3.84 เมื่อเทียบปีก่อน
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ 159.16 ลดลงร้อยละ 3.84 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า MPI ในเดือน เม.ย. จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากเดือนเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ MPI ขยายตัวร้อยละ 1.49 ทั้งนี้ สศอ.คาดว่า ดัชนี MPI ในปี 56 จะขยายตัวได้ประมาณ 3.5-4.5% จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.51 เมื่อปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2556 หดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 และเมื่อขจัดผลทางมฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -3.3 ต่อเดือน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหมวดอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ เป็นสำคัญ เนื่องจากส่วนหนึ่งได้มีการเร่งกำลังการผลิตไปแล้วในช่วงปลายปี 2555 และช่วงต้นปี 2556 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลอัตราการใช้กำลังการผลิต (Cap U) ในเดือนเม.ย.56 อยู่ที่ระดับ 60.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 71.0
2. บลจ.กรุงไทยคาดว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปีนี้มีโอกาสทดสอบ 1,750 จุด
  • รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ ออกมาต่ำกว่าที่คาด คือ ขยายตัวร้อยละ 5.3 ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่ามีโอกาสที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ กนง.จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ประเด็นนี้ส่งผลให้การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ได้ผลตอบแทนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับหุ้น นักลงทุนจึงปรับการลงทุนหันเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยบริษัทยังเป้าตลาดหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,750 จุดเช่นเดิม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (Set Index) ของประเทศไทยในเดือน เม.ย. 56 เท่ากับ1,597.9 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นตลาดหลักทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on equity) เท่ากับร้อยละ 18.5 ซึ่งสูงที่สุดในประเทศอาเซียน ตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 55 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมบริการเป็นอุตสาหกรรมที่มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นสูงสุดร้อยละ 124.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลประกอบการอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ร้อยละ -36.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ หากพิจารณาอัตราส่วน p/e พบว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยเท่ากับ 16.1 เท่า รองจากตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ที่มีอัตราส่วน p/e ที่ 23.6 เท่า ซึ่งสะท้อนว่าราคาหลักทรัพย์ของไทยได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนให้ Set Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแกร่ง จากการลงทุนของภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อย่างมาก
3. ยอดขายปลีกของอิตาลีในเดือน มี.ค. 56 หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.3
  • ยอดขายปลีกของอิตาลีในเดือน มี.ค. 56 หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หดตัวร้อยละ -0.3 ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์ได้ประมาณไว้ว่าจะหดตัวร้อยละ -0.1
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของอิตาลียังคงอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 54 โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 55 หดตัวเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันที่ร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.7 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ -0.9 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.9 จากผลของสินค้าคงเหลือและการบริโภคในประเทศที่หดตัวร้อยละ -7.6 และ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นสำคัญ ขณะที่มีเพียงภาคการส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดของอิตาลี พบว่า การบริโภคในประเทศยังมีทิศทางที่ไม่ดี สะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 85.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 86.3 และอัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 11.5 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็มีสัญญาณไม่ดีเช่นเดียวกัน สะท้อนจากคำสั่งซื้ออุตสาหกรรมและยอดขายอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 56 หดตัวร้อยละ -10.0 และ -7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอิตาลีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศกลุ่มยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัวก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกลุ่มยูโรโซน โดย สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 56 จะหดตัวร้อยละ -0.2 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ