รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 23, 2013 10:40 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2556

Summary:

1. โค้งสุดท้าย 'ออเดอร์' ส่อไม่ถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ ส่งออกปีนี้จ่อติดลบร้อยละ 0.02

2. ธนาคารทหารไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 3.3

3. สหรัฐฯ โชว์แกร่ง GDP ไตรมาส 3 ปรับใหม่โตเกินคาด

Highlight:

1. โค้งสุดท้าย 'ออเดอร์' ส่อไม่ถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ ส่งออกปีนี้จ่อติดลบร้อยละ 0.02
  • พาณิชย์ลุ้นมูลค่า ส่งออก 2 เดือนที่เหลือเฉลี่ยเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ยอมรับสถิติช่วงเดียวกันของปีที่แล้วทำได้แค่ 1.8 หมื่นล้านเท่านั้น จ่อติดลบ แต่ยังคาดปีหน้าโตร้อยละ 5 เชื่อปัจจัยการเมืองไม่ส่งผลกระทบ และคาดว่าเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าหลักจะดีขึ้น ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 56 หดตัวร้อยละ -0.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาส่งออก ร้อยละ -0.3 ตามราคาสินค้าเกษตร และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 56 อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 1.0 เนื่องจากการส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือจะต้องมีมูลค่าเฉลี่ยอย่างน้อยเดือนละ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากสถิติการส่งออกในปีที่ผ่านมาจะมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 18.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกในปี 57 จะบรรลุเป้าปี 57 ที่ร้อยละ 5.0 ได้นั้น ขึ้นอยู่กับผลกระทบของการลด QE ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก สถานการณ์เศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าเกษตร รวมถึงปัญหาอุปทานขาดแคลนในสินค้าเกษตร อาทิ กุ้ง ที่ได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วน
2. ธนาคารทหารไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 3.3
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ขณะที่ปี 57 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับลดลงจากประมาณเดิมที่ร้อยละ 4.0 ส่วนหนึ่งเป็นจากสถานการณ์การเมืองที่ทำให้คาดว่าเม็ดเงินลงทุนลดลงกว่า 2 แสนล้านบาท และการบริโภคจะทรงตัว อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนที่มีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจ ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคส่งออกของไทยตามสัญญาณบวกเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีนและอาเซียน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากประมาณการ ณ เดือน ก.ย. 56 คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.6 - 5.6 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกที่ฟื้นตัว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นโดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะยังทรงตัวเนื่องจากอยู่ในช่วงของการปรับตัวต่อเสถียรภาพในระบบการเงิน อย่างไรก็ดี จากปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 57 ได้แก่ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ที่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ และการเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ สศค. จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในวันที่ 27 ธ.ค. 56 นี้
3. สหรัฐฯ โชว์แกร่ง GDP ไตรมาส 3 ปรับใหม่โตเกินคาด
  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความชัดเจนยิ่งขึ้นหลังกรมการค้าของสหรัฐฯ (The commerce department) ประกาศทบทวนตัวเลขการเติบโตของGDP ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เพิ่มจากร้อยละ 3.6 จาก ไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี มากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักได้คาดไว้ว่าการทบทวนตัวเลขจะไม่เปลี่ยนแปลงจากการเติบโตที่ร้อยละ 3.6 เดิม สาเหตุของการทบทวนตัวเลขไปในทางที่ดีขึ้นมาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจในหลายๆสาขาที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ การบริโภคจากทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่น การลงทุน และการส่งออก โดยเฉพาะการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมได้ปรับเพิ่มจากอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 2.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งแม้จะมีอุปสรรคทางการคลังทั้งการตัดลดงบประมาณ และการหยุดทำงานของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี สศค. คาดว่าสหรัฐฯ จะสามารถคงโมเมนตัมการเติบโตในลักษณะนี้ไปได้อย่างต่อเนื่องถึงปีหน้า โดย คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 56 จะเติบโตที่ร้อยละ 1.8 และจะเติบโตเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.6 ในปี 57 อย่างไรก็ดี การเติบโตในรอบนี้ยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาด้านการคลัง และการว่างงานในระดับสูง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศการลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE อย่างเป็นทางการแล้ว

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ