รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556 และ 2557 “เศรษฐกิจไทยปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.8 และมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2557”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 27, 2013 10:03 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนธันวาคม 2556 ว่า
“เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ร้อยละ 3.7 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว
อย่างล่าช้าส่งผลกระทบให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลง ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมี
แนวโน้มปรับตัวลดลง ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ปรับตัวลดลงและส่งผลให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจระมัดระวังการใช้จ่าย
และการลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มลดลงจากที่เคยคาดไว้ อันเป็นผลมาจากความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ
และการเบิกจ่ายเม็ดเงินตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อน
โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกด้านบริการที่จะขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเกือบทุกภูมิภาค สำหรับ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของ
อุปสงค์ภาคเอกชนประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอันเป็นผลมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2557 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 – 4.5) ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ร้อยละ 5.1 โดยมีปัจจัยหลักจากการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อาจมีความล่าช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเม็ดเงินตามแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ต้องมีการ ทำประชาพิจารณ์ตามคำสั่งของศาลปกครอง และการเบิกจ่ายเม็ดเงินตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่อยู่ระหว่างรอผลวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ การประกาศยุบสภาของรัฐบาลยังคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐให้เกิดความล่าช้าได้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะยังคงได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการ ส่งออกสินค้าและบริการ นอกจากนี้ สถานการณ์การจ้างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีและภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำจะ ช่วยสนับสนุนให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้ ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 – 2.9) ตามอุปสงค์ภาคเอกชนที่ดีขึ้น”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “หากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองยืดเยื้อออกไปจะส่งผล กระทบทางลบต่อการท่องเที่ยวของไทย ผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยที่คาดว่าอาจลดลงถึง 3 แสนคน และอาจส่งผลให้ การเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐมีความล่าช้าออกไปอีก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 – 4.0) นอกจากนี้ ในการประมาณการเศรษฐกิจยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง อาทิ การดำเนิน นโยบายทางการเงินของประเทศพัฒนาแล้วที่อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนของไทย ภัยธรรมชาติและโรคระบาด อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอุตสาหกรรม”

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 และ 2557 (ณ เดือนธันวาคม 2556)

                                                              2555          2556 f              2557 f

(ณ ธันวาคม 2556) (ณ ธันวาคม 2556)

                                                                เฉลี่ย                เฉลี่ย               ช่วง

สมมติฐานหลัก สมมติฐานภายนอก

1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)                   3.3           3.3                 3.8             3.3 - 4.3
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล)                           109.1          105                 105           100.0 - 110.0
3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                         0.6           -0.3                0.5             0.0 - 1.0
4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                         1.6           -2.2                 0             -0.5 ถึง 0.5
สมมติฐานด้านนโยบาย
5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)                                31.1           30.7                31.2           30.2 - 32.2
6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                       2.75           2.25                2.25           1.75 - 2.75
7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                      2.89           3.03                3.24           3.23 - 3.25

ผลการประมาณการ

1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                             6.5           2.8                 4.0             3.5 - 4.5
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                         6.8           1.3                 2.7             2.2 – 3.2
    - การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                     6.7           0.4                 2.8             2.3 - 3.3
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        7.5           5.6                 2.1             1.6 - 2.6
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                         13.2           -1.1                8.3             7.8 - 8.8
    - การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                     14.4           -0.3                7.0             6.0 - 8.0
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                         8.9           -4.1                13.2           6.1 - 14.2
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                 3.1           4.1                 7.0             6.0 - 8.0
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                 6.2           2.9                 4.4             3.4 - 5.4
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                      6.0           5.2                 8.9             7.9 – 8.9
  - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                            3.1           -0.6                6.5             4.5 - 8.5
  - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                            8.8           -0.2                5.0             3.0 – 7.0
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                -1.5           -6.2                4.4             3.4 - 5.4
  - ร้อยละของ GDP                                                 -0.4           -1.6                1.0             0.7 - 1.3
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)                                      3.0           2.2                 2.4             1.9 - 2.9
    อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี)                                    2.1           1.0                 1.2             0.7 - 1.7
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                          0.7           0.7                 0.7             0.6 – 0.8

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการการคลัง

โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3273

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556 และ 2557

          1.          เศรษฐกิจไทยในปี 2556

1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 ชะลอลงจากปีก่อนหน้า และลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ ร้อยละ 3.7 อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลังจากที่เร่งขึ้นไปมากในช่วงก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนมี แนวโน้มชะลอตัวลงมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ตามความต้องการซื้อสินค้าคงทนโดยเฉพาะยานยนต์ที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวด สินค้าไม่คงทนและบริการคาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -0.3 ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเปรียบเทียบ กับฐานที่สูงในปีก่อนจากการเร่งการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัย ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้ ประกอบการปรับตัวลดลงส่งผลให้ภาคธุรกิจระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐที่ชะลอออกไปยังส่งผลให้กิจกรรมการลงทุน ภาคเอกชนชะลอตัวลงตาม อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดก่อสร้างคาดว่าจะขยายตัวได้ดี สะท้อนได้จากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มลดลงจากที่เคยคาดไว้ โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 5.6 และการลงทุนภาครัฐจะหด ตัวร้อยละ -4.1 อันเป็นผลมาจากความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงินที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้รับจัดสรรมีความล่าช้า ตลอดจนการเบิกจ่ายเม็ดเงินตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีการเบิกจ่ายได้ไม่มากนัก เนื่องจากโครงการบางส่วน อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์ก่อนเริ่มดำเนินโครงการตามคำสั่งศาลปกครอง สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศนั้น การส่งออกสินค้าและบริการ คาดว่าจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกด้านบริการที่จะขยายตัวตามจำนวนนัก ท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะจากจีนและรัสเซีย อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะ หดตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.6 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้าส่งผลกระทบให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลง ประกอบกับการ ส่งออกสินค้าประมงมีแนวโน้มหดตัวจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งเพื่อผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะ ขยายตัวร้อยละ 2.9 ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน

1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ลดลงจากปีก่อนหน้า จากแรงกดดัน ด้านอุปสงค์ที่ลดลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน และแนวโน้มราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลงอันเป็นผลมาจากอุปสงค์ ในตลาดโลกที่ชะลอลง รวมทั้งผลจากแนวทางการดูแลราคาน้ำมันขายปลีกของภาครัฐ ในส่วนของอัตราการว่างงาน คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลที่ 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิด เป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP ส่วนหนึ่งมาจากการส่งกำไรและเงินปันผลกลับต่างประเทศของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก

2. เศรษฐกิจไทยในปี 2557

2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 – 4.5) ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ เดิมที่ร้อยละ 5.1 โดยมีปัจจัยหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจมีความล่าช้ากว่าที่คาด ทั้งในส่วนของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดย เฉพาะการเบิกจ่ายเม็ดเงินตามแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ตามคำสั่งของศาลปกครอง และการเบิกจ่ายเม็ดเงิน ตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ การประกาศยุบสภาของรัฐบาลยัง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐให้เกิดความล่าช้าได้ โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 2.1 (โดยมีช่วง คาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6 – 2.6) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ร้อยละ 13.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.2 – 14.2) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะยังคงได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและ บริการ ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนมาขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0 – 8.0) เนื่องจากคาดว่าการส่งออกสินค้าจะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดี ขึ้นต่อเนื่องตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นโดยได้รับอานิสงส์จากโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ แม้ว่า เศรษฐกิจจีนจะยังอยู่ในช่วงของการปรับตัวต่อเสถียรภาพในระบบการเงินก็ตาม ขณะที่การส่งออกด้านบริการคาดว่าจะขยายตัวตามจำนวนนัก ท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 (โดยมี ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 ถึง 3.3) ตามสถานการณ์การจ้างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ภาวะการเงินโดยรวมที่ผ่อนคลาย สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำจะยังคงเอื้อต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น โดยจะขยายตัวร้อยละ 7.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0 – 8.0) จากปัจจัยสนับสนุนสำคัญ อาทิ ความจำเป็นในการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมูลค่าการขอรับและ ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและ บริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 – 5.4) สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้จ่าย ภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้น และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก

2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 – 2.9) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า อันเป็นผลจากการเร่งขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้ม ทรงตัว จากอุปสงค์น้ำมันดิบที่คาดว่าจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอุปทานน้ำมันดิบ ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันตามการผลิตนอกกลุ่ม OPEC ในส่วนของอัตราการว่างงาน คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ (0.6 – 0.8 ของกำลังแรงงานรวม) สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชี เดินสะพัดจะเกินดุล 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.0 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 ถึง 1.3 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 7.9 ถึง 9.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตาม มูลค่าสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้านำเข้า

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 126/2556 26 ธันวาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ