เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 30, 2014 13:30 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2556 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณหดตัว ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิต ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยลบจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และการท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าคาดว่าเริ่มมีทิศทางปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีสัญญาณหดตัว โดยเฉพาะจากการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2556 หดตัวร้อยละ -17.2 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องของยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคที่หดตัวร้อยละ -19.6 และยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม.ที่หดตัวร้อยละ -7.5 เป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ หดตัวร้อยละ -14.9 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนธันวาคม 2556 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -28.3 ต่อปี และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -39.7 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่นในช่วงที่ผ่านมา และการส่งเสริมการขายของบริษัทรถยนต์มีส่วนสนับสนุนให้ตลาดรถยนต์นั่งไม่ชะลอตัวมากนัก และเริ่มกลับมาขยายตัวสู่ระดับปกติ สะท้อนจากการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าภายหลังจากหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ที่ขยายตัวร้อยละ 17.7ในขณะที่ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ แม้ว่าขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 ต่อปี แต่ส่วนหนึ่งมาจากฐานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำในเดือนธันวาคม 2556 ทั้งนี้ ในภาพรวมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ยังคงหดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 63.2 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 หลังนโยบายภาครัฐเริ่มทยอยหมดลง ประกอบกับความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวให้ชะลอลงได้

    เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน          2555                  2556
                                             Q1     Q2     Q3     Q4     ต.ค.   พ.ย.   YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)         14.1    6.8   -0.3   -7.3   -1.0    -8.3    3.1   -0.6
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -2.0   -3.2    0.9    5.6    -9.3    2.5      -
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)        86.6   97.2   -3.3  -24.8  -39.7   -48.0  -28.3   -6.1
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -3.0  -27.4   -3.5  -11.0    -4.0   17.7      -
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)     5.8    5.4   -6.2   -8.7  -14.9   -16.7  -17.2   -6.0
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -1.1   -4.8   -3.7   -4.9    -4.3   -3.5
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                  67.6   73.8   72.8   69.3   64.9    65.0   63.2   70.2

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีสัญญาณชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและไตรมาสก่อนหน้าโดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่พบว่ายังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนธันวาคม 2556 หดตัวร้อยละ -14.5 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -24.1 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อเดือน แสดงให้เห็นถึงการเริ่มกลับมาขยายตัวเข้าสู่ระดับปกติ สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างมีสัญญาณชะลอตัวเช่นกัน สะท้อนจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนธันวาคม 2556 หดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปีทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อไตรมาส ขณะที่ภาษีจาก การทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 9.1ต่อปีทำให้ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 9.1 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อไตรมาสสะท้อนถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มทรงตัว

    เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                   2555                      2556
                                                       Q1     Q2     Q3     Q4     ต.ค.   พ.ย.   YTD
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)         21.4     35.2   11.0   22.0    9.1     3.5    9.1   17.9
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -1.5   -1.4    8.2    4.0     0.1   -1.6      -
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                   10.6     15.9   14.6    3.0    0.3     3.6   -1.3    8.3
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -0.6    1.3   -1.3    1.0    -0.1   -9.7      -
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)             76.1     19.4    3.2  -26.2  -24.1   -24.8  -14.5   -8.4
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -3.1   -7.6  -14.2   -0.9     6.4    4.4      -

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 พบว่า รัฐบาลสามารถเบิกงบประมาณรวมในเดือนธันวาคม 2556 ได้จำนวน 317.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 82.2 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 284.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 105.5 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 175.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 33.6 (2) รายจ่ายลงทุน 109.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1,410.4 ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวได้สูงในเดือนธันวาคม 2556 มีปัจจัยหลักจากการจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 111.8 พันล้านบาท ทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 และเป็นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 สามารถเบิกจ่ายรวมได้ทั้งสิ้น 831.1 พันล้านบาท โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 760.8 พันล้านบาท และคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 30.1 ของวงเงินงบประมาณ 2.525 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนธันวาคม 2556 ได้จำนวน 160.3พันล้านบาทหรือหดตัวร้อยละ -14.3 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 และเป็นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 504.6 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี สำหรับดุลเงินงบประมาณในเดือนธันวาคม 2556 ขาดดุลจำนวน -152.7 พันล้านบาท และไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ขาดดุลจำนวน -334.8 พันล้านบาท

    เครื่องชี้ภาคการคลัง                 FY2556                    FY2556               FY2557
       (พันล้านบาท)                              Q1/      Q2/      Q3/     Q4/     Q1/    ธ.ค.    YTD
                                              FY56     FY56     FY56    FY56    FY57
รายได้สุทธิของรัฐบาล
(หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)             2,157.5   508.5    469.6    641.9   537.5   504.6  160.3   504.6
   (%y-o-y)                            9.2    27.6     13.7      3.4    -1.2    -0.8  -14.3    -0.8
รายจ่ายรัฐบาลรวม                     2,402.5   785.9    585.7    482.0   548.9   831.1  317.0   831.1
   (%y-o-y)                            4.7    60.5    -24.9      4.8    -3.0     5.7   82.2     5.7
ดุลเงินงบประมาณ                       -244.9  -283.9   -109.1    165.1   -17.0  -334.8 -152.7  -334.8

4. การส่งออกในเดือนธันวาคมของปี 2556 คาดว่าเริ่มมีทิศทางดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า จากการประเมินเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และยุโรป มีสัญญาณการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าในช่วง 2 เดือนแรก ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ยังคงหดตัวที่ -2.4 ต่อปี

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 พบว่า ภาคบริการเริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.7 ต่อปีแต่หดตัวร้อยละ -3.9 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวหลักๆที่ขยายตัวได้ดี มาจาก รัสเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยขยายตัวร้อยละ 27.6 7.7 และ 36.4 ต่อปี ขณะที่นักท่องเที่ยวจากจีนซึ่งมีสัดส่วนเป็นอันดับที่ 1 และขยายตัวได้สูงในช่วงที่ผ่านมากลับขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2556 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 26.1 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อไตรมาส ในขณะที่ภาคการผลิตมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2556 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในระดับสูง ได้แก่ อาหาร (ร้อยละ -14.3 ต่อปี) ยานยนต์ (ร้อยละ -21.3 ต่อปี) และเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ (ร้อยละ -15.3 ต่อปี) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในเดือนธันวาคม 2556 ได้แก่ เครื่องหนัง (ร้อยละ 7.6 ต่อปี) วิทยุโทรทัศน์ (ร้อยละ 2.8 ต่อปี) และการปั่นการทอ (ร้อยละ 2.4 ต่อปี) ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ –3.5 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 88.3 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงกระทบต่อประเทศคู่ค้าที่ชะลอคำสั่งซื้อ ประกอบกับต้นทุนการผลิต และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

     เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน           2555                   2556
                                              Q1      Q2      Q3     Q4      พ.ย.    ธ.ค.    YTD
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)              2.2    2.9    -4.9    -3.5   -7.1    -10.7    -6.1    -3.2
   %qoq_SA / %mom_SA                    -   -2.9    -5.7    -1.4    3.7     -0.9     2.8       -
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)               16.2   22.1    21.3    26.1   10.7     11.9     6.7    19.6
   %qoq_SA / %mom_SA                    -    1.1     6.8     5.8   -2.6      1.3    -3.9       -

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.7ตามการลดลงของราคาอาหารสด อาทิ ผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 1.7 และ 0.8 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 2.48 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDPณ สิ้นเดือนตุลาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 45.3 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 167.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า

     เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ            2555                   2556
                                               Q1     Q2     Q3     Q4      พ.ย.    ธ.ค.    YTD
ภายในประเทศ
   เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                   3.0    3.1    2.3    1.7    1.7      1.9     1.7     2.2
   เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                  2.1    1.5    1.0    0.5    0.8      0.9     0.9     1.0
   อัตราการว่างงาน (yoy%)                0.7    0.7    0.7    0.8    0.6      0.7     0.6     0.7
   หนี้สาธารณะ/GDP                      43.7   44.2   44.5   45.9   45.3*     n.a.    n.a.   45.3
ภายนอกประเทศ
   ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)             -1.5    1.4   -1.0   -0.5    n.a.     2.3     n.a.    2.3
   ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)           181.6  177.8  170.8  172.3  167.2    167.5   167.2   167.2
   ฐานะสุทธิ Forward (พันล้าน $)          24.1   23.7   23.7   21.2   23.0     23.9    23.0    23.0

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ