รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 2, 2014 12:21 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 เมษายน 2557

Summary:

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.57 เพิ่ม 2.11%, ไตรมาสแรกเพิ่ม 2%

2. ADB คาดหากไม่มีรัฐบาลเศรษฐกิจไทยปี 57 อาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 ต่อปี

3. ญี่ปุ่นขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1 เม.ย. 57 ครั้งแรกในรอบ 17 ปี

Highlight:

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.57 เพิ่ม 2.11%, ไตรมาสแรกเพิ่ม 2%
  • กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือนมี.ค. 57 เท่ากับ 106.94 หรือสูงขึ้นร้อยละ 2.11 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทำให้ราคาอาหารสำเร็จรูป เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง และก๋วยเตี๋ยว มีราคาปรับสูงขึ้น ตามราคาอาหารสดที่สูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้หมูเติบโตช้า ผักและผลไม้ ทั้งนี้ ภาวะการใช้จ่ายด้านการบริโภคภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 57 อยู่ระหว่างร้อยละ 2.00 - 2.80
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนมี.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.22 จากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มี แอลกอฮอล์ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.45 และดัชนีในหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.10 จากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.0-3.0) ตามแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซหุงต้มที่อาจส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงและแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่เพิ่มขึ้น อาจผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น และส่งผ่านแรงกดดันไปสู่เงินเฟ้อในปี 57
2. ADB คาดหากไม่มีรัฐบาลเศรษฐกิจไทยปี 57 อาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 ต่อปี
  • ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.9 ต่อปี ภายใต้สมมติฐานที่ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่และไม่มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจใหม่ๆ ในช่วงครึ่งแรกของปี แต่เชื่อว่าไทยจะมีรัฐบาลใหม่ที่สามารถดำเนินงานได้เต็มรูปแบบภายในครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ หากสมมติฐานไม่เป็นไปตามที่คาดไว้จะมีความเป็นไปได้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำร้อยละ 2 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือน ก.พ.57 สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การเมือง ผ่านการท่องเที่ยวที่หดตัวร้อยละ-8.1 ต่อปี และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ-4.4 ต่อปี สำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากการส่งออกไปยังตลาดประเทศคู่ค้าหลักโดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 57 ณ เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงครึ่งแรกของปี ตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อประกอบกับการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี จากปี 56 ที่หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปี
3. ญี่ปุ่นขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1 เม.ย. 57 ครั้งแรกในรอบ 17 ปี
  • รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 57 เป็นต้นไป เพื่อหวังจะลดภาระหนี้สาธารณะของญี่ปุ่น และรัฐบาลก็มีแผนที่จะขึ้นภาษีให้ถึง ร้อยละ 10ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่าไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีผู้บริโภคในบางประเทศซึ่งการขึ้นภาษีครั้งนี้ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรันายกรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่งเพียง 15 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2556 รัฐบาลญี่ปุ่นจัดเก็บรายได้จาก VAT ได้ประมาณ 10,558 พันล้านเยน หรือคิดเป็นร้อยละ 23.6 ของรายได้ภาษีอากร ซึ่งการปรับเพิ่ม VAT ของญี่ปุ่นจะทำให้รัฐาลจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น จะมาช่วยลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งจะช่วยชะลอหนี้สาธารณะ ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 227.2 ของ GDP อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่ม VAT ที่เป็นภาษีทางอ้อมจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลักภาระด้านราคาให้กับผู้บริโภค อาจจะทำให้ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำและอยู่ภายใต้กรอบนโยบายการเงินที่กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่เกินร้อยละ 2 โดยในเดือน ม.ค. 57 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นเท่ากับร้อยละ 1.4 สำหรับมาตรการขยายระยะเวลาการลด VAT ของประเทศไทยจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย. 57 ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถต่ออายุมาตรการดังกล่าวได้ก่อนวันที่ 30 ก.ย. 57 ย่อมจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการบริโภคของประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ