รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 2, 2014 10:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2557

Summary:

1. ธปท. ชี้การเร่งมาตรการทางเศรษฐกิจของ คสช. จะส่งผลชัดเจนในปี 58

2. 4 เดือนส่งออกข้าวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.0

3. จีนเล็งลดเกณฑ์ทุนสำรองหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

1. ธปท. ชี้การเร่งมาตรการทางเศรษฐกิจของ คสช. จะส่งผลชัดเจนในปี 58
  • ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เข้ามาบริหารจัดการประเทศและเร่งมาตรการทางเศรษฐกิจออกมา คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในปี 58 ขณะที่ในปี 57 อาจจะได้รับผลดีบ้างแต่ไม่มากนัก เนื่องจากได้ผ่านมาครึ่งปีแล้ว ดังนั้นคาดว่า GDP ปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 คงไม่ง่ายนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 57 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจาก 1. ความชัดเจนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงโครงการอื่นๆที่กำลังยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง 2. การส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจจีน แม้ว่าจะส่งสัญญาณขยายตัวชะลอลงบ้าง แต่คาดว่ายังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 - 3.1 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57 และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 57 นี้)
2. 4 เดือนส่งออกข้าวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.0
  • สภาผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 ว่ามีปริมาณทั้งสิ้น 2.94 ล้านตัน มูลค่า 49,280 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.3 และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2556 ที่มีการส่งออกปริมาณ 1.98 ล้านตัน มูลค่า 42,273 ล้านบาท ซึ่งในเดือน เม.ย. 57 มีปริมาณลดลงจากเดือน มี.ค. 57 ที่ผ่านมา ส่วนในเดือน พ.ค.57 ปริมาณส่งออกจะยังคงอยู่ในระดับประมาณ 700,000 ตัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกข้าวไทยในเดือนเม.ย.57 มีมูลค่าอยู่ที่ 364.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล แบ่งเป็น (1) ข้าวขาวจำนวน 125.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.4 ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งหมด ขยายตัวร้อยละ 20.9 (2) ข้าวหอมมะลิจำนวน 97.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.9 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด หดตัวร้อยละ -15.9 โดยการขยายตัวของการส่งออกข้าวทั้งหมดในเดือนนี้เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณส่งออกข้าวเป็นสำคัญ ซึ่งคาดว่ามาจากการระบายสต๊อกข้าวจากนโยบายรับจำนำข้าว ขณะที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดโลกยังมีทิศทางหดตัวต่อเนื่อง โดยราคาข้าวขาว 5% ในตลาดโลกในเดือนเม.ย.57 ลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 30.6 สำหรับตลาดส่งออกข้าวไทยที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ขยายตัวร้อยละ 31.2) เบนิน (ขยายตัวร้อยละ 95.5) แอฟริกาใต้ (ขยายตัวร้อยละ 160.1) และจีน (ขยายตัวร้อยละ 16.2) ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 7.2
3. จีนเล็งลดเกณฑ์ทุนสำรองหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางการจีนได้เปิดเผยท่าทีหลังการประชุมรัฐบาลต่อแนวโน้มของนโยบายเศรษฐกิจว่าอาจจะมีการลดเกณฑ์ทุนสำรอง (Reserve requirement) ลงเพื่อให้ธนาคารมีการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการในชนบทอันจะเป็นหนทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตได้ต่ำกว่าที่เคยเป็นมา อย่างไรก็ดี ทางการจีนจะมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ดังกล่าวให้กับธนาคารเพียงบางแห่งเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยในรายละเอียดว่าจะผ่อนคลายให้กับรายใด มากน้อยเพียงใด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ทางการจีนตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 7.5 แต่จากการเติบโตในไตรมาสแรกที่ร้อยละ 7.4 (ชะลอลงจากร้อยละ 7.7 ในไตรมาสก่อนหน้า) ความเสี่ยงและแนวโน้มทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ทำให้หลายฝ่ายรวมถึงทางจีนเองเล็งเห็นความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามเป้า อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการที่ออกมาจะมีความระมัดระวังต่อผลข้างเคียงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันต่อฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ อัตราเงินเฟ้อในภาพรวม และการเติบโตที่รวดเร็วของหนี้สิน ทั้งนี้ นอกจากการลดเกณฑ์ทุนสำรองแล้ว ทางการจีนอาจออกมาตรการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ และการลดภาษีบางรายการ จึงควรติดตามรายละเอียดในมาตรการกระตุ้นว่าจะมีลักษณะอย่างไร และจะเพียงพอต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกจับตาดู และคาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. นี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ