รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 6 มิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 9, 2014 11:16 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week

  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน เม.ย. 57 ขาดดุล -643.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อเดือน เม.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ ที่ร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินฝากสถาบันการเงิน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 7.1
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 60.7
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 57 อยูที่ร้อยละ 46.6 ของ GDP
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศ ในเดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากช่วงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP สหภาพยุโรป ไตรมาส 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ GDP ออสเตรเลีย ขยายตัวที่ ร้อยละ 3.6
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM's Mfg. PMI) สหรัฐฯ เดือน พ.ค. 57เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 มาอยู่ที่ระดับ 55.4 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 49.9 จุด

Indicator next week

Indicators      Forecast     Previous May :
API (% yoy)       4.8             5.6

ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวโพดที่ยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง ตามพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะสุกร ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีสถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพารา ผลผลิตปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตออกมาน้อยกว่าปกติ

Economic Indicators: This Week

  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดผักสดและปศุสัตว์ เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้อุปทานลดลง ประกอบกับอาหารสำเร็จรูป มีราคาเพิ่มสูงขึ้นจากการทยอยปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านราคาที่ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ -0.2 หมวดดัชนีราคาที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบ การผลิตและค่าแรง ปรับตัวสูงขึ้นจะเห็นได้จากดัชนีหมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.1 หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้สูงขึ้นร้อยละ 0.2 และ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้นร้อยละ 2.0 สำหรับหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 2.7 และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตสูงขึ้นร้อยละ 4.4 หมวดดัชนีราคาบางหมวดที่ลดลง เป็นผลจากภาวะการก่อสร้างชะลอตัวลง ได้แก่ หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.4 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 1.0 และหมวดซีเมนต์ร้อยละ 1.6 สำหรับหมวดวัสดุฉาบผิวไม่เปลี่ยนแปลง
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน เม.ย. 57 ขาดดุล -643.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 2,898.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุล 559.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการหดตัวของการนำเข้าในระดับสูง ผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกหดตัวเล็กน้อย จากผลของราคาโดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกต่ำ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุล 1,202.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติ ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 7,583.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อเดือน เม.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัว ร้อยละ 0.4 โดยหากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณดีขึ้น แม้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ จะส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การชะลอลงของเงินฝากทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ฝากหันไปลงทุนในผลิตภัณฑ์การออมประเภทอื่น เช่น กองทุนตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ขณะที่การแข่งขันระดมเงินฝากชะลอลงต่อเนื่อง โดยสถาบันการเงินเริ่มหันไปออกผลิตภัณฑ์ประเภทกองทุนเพื่อจูงใจผู้ฝากมากขึ้น
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 60.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 57.7 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และเป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ.57 โดยมีสาเหตุสำคัญจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่มีการเริ่มทยอยจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาแล้วบางส่วน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมยังปรับขึ้นไม่สูงนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออกไทย
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,583.8พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 33.4 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.6 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสุทธิ 38.0 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อชดเชยการขาดดุลเงินงบประมาณและการบริหารหนี้จำนวน 37.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 97.5 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.2 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.8 ตามการชะลอตัวของยอดขายเหล็กเส้น ข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 64.4 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) ที่หดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (น้ำหนักร้อยละ 13.2) ที่ขยายตัวร้อยละ 28.7 ต่อปี และเหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 11.2) ที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมในช่วง 4 เดือนแรกปี 57 ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Economic Indicators: Next Week

  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน พ.ค. 57 คาดว่าจะขยายที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวโพดที่ยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง ตามพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะสุกร ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีสถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพารา ผลผลิตปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตออกมาน้อยกว่าปกติ

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM's Mfg. PMI) เดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 มาอยู่ที่ระดับ 55.4 จุด จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และดัชนีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ ดัชนีฯ นอกภาคอุตสาหกรรม (ISM's non-Mfg. PMI) เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 56.3 จุด สูงสุดในรอบ 9 เดือน บ่งชี้ภาคบริการที่ขยายตัว จากดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ คำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
Japan: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 49.9 จุด จากระดับ 49.4 จุดในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังหดตัว
Eurozone: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ที่ร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากอุปสงค์ทั้งในและนอกภูมิภาคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน พ.ค. 57 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่สูงระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ระดับ 53.5 โดยดัชนีฯ ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 53.2 และระดับ 52.2 ตามลำดับ สะท้อนภาคการผลิตที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนภาคการบริโภคที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดย เดือน พ.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กอปรกับอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้จะลดลงเล็กน้อย ในเดือน เม.ย. 57 มาอยู่ที่ร้อยละ 11.7 ของกำลังแรงงานรวม ยังคงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรฐกิจยูโรโซน ในวันที่ 5 มิ.ย. 57 ECB ได้ประกาศผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติม โดยได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย deposit facility rate และ marginal lending facility rate ลงเหลือร้อยละ 0.15 ร้อยละ -0.10 และร้อยละ 0.40 ตามลำดับ และได้ประกาศจะดำเนินมาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่ธนาคาร (TLTROs) เพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจ
China: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (NBS's Mfg. PMI) เดือนพ.ค. 57 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 50.8 จุด ดัชนีฯภาคอุตสาหกรรม (HSBC's Mfg. PMI) เดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 4 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ดัชนีฯภาคบริการ (HSBC's Serv. PMI) เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 50.7 จุด ลดลงจากระดับ 51.4 จุด ในเดือนก่อนหน้า
Indonesia: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.4 จุด จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่สะท้อนการขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดเสื้อผ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 57 หดตัวร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 57 หดตัวร้อยละ -1.3 ส่งผลให้ดุลการค้าในช่วงดังกล่าวขาดดุลที่ -2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Philippines: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น
Singapore: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน พ.ค. 57 ลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 50.8 จุด สะท้อนภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณชะลอตัว
Hong Kong: worsening economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 57 หดตัวร้อยละ -9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดค้าในหมวดเครื่องประดับและสินค้าฟุ่มเฟือยที่หดตัวลงมาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน พ.ค. 57 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 49.1 จุด
South Korea: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือนพ.ค. 57 หดตัวมากที่สุดในรอบ 9 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีนที่ลดลงมาก มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 57 เกินดุลที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 57 ลดลงมาอยู่อยู่ที่ระดับ 49.5 จุด อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 20 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Taiwan: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 57 ทรงตัวที่ระดับ 52.4 จุดอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค.57 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
Australia: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเร่งขึ้นร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อน จากการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการค้าหมวดอาหาร มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีมูลค่าการนำเข้า เดือนเม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 7.3 ในเดือนก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 57 เกินดุล 333 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

Weekly Financial Indicators

  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ และเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 5 มิ.ย. 57 ปิดที่ 1,453.16 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ค่อนข้างสูงถึง 55,114 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายและนโยบายของรัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่นักลงทุนในประเทศรายย่อยขายสุทธิต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพื่อขายทำกำไร ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 2 - 5 มิ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 7,735 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 5 มิ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 9,165 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 5 มิ.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.31 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินยูโร เงินวอน และดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่ เงินเยน ริงกิตมาเลเซีย และเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.55 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 5 มิ.ย. 57 ปิดที่ 1,253.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,244.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ