รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 - 20 มิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 23, 2014 10:55 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -14.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวม หดตัวร้อยละ -1.0
  • วันที่ 18 มิ.ย. 57 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย เดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -10.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ ระดับ 85.1
  • เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 57 Fed มีมติปรับลดขนาดมาตรการ QE ลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 57 กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี ที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 57 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี
  • อัตราเงินเฟ้ออินเดีย เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators    Forecast    Previous May :
MPI (%yoy) -2.0 -3.9

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และต่อเนื่องไปถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 57 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยคาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนที่ชะลอการผลิตในช่วงก่อนหน้านี้กลับมาผลิตเพิ่มขึ้น

Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ค. 57 ได้จำนวน 282.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -14.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 63.0 พันล้านบาท หรือร้อยละ 18.2 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 11.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของการปรับลดอัตราภาษีที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 12.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลง ซึ่งทำให้ผลประกอบการของภาคเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ประมาณไว้ และ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี งปม. 57 (ต.ค. 56 - พ.ค. 57) ได้จำนวน 1,360.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 93.3 พันล้านบาท หรือร้อยละ 6.4
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน พ.ค. 57 มีมูลค่า 55.2 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.2 ตามการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกของของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.4 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกปี 57 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 2.0 จากเดือนก่อนหน้า) เนื่องจากสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นมากไปแล้วในปี 56 จากความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้ม ทรงตัวในปี 57 สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน เม.ย. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • วันที่ 18 มิ.ย. 57 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปีจากการที่ กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นหลังสถานการณ์ทางการเมืองได้คลี่คลายลง และภาครัฐสามารถดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินได้ นโยบายการคลังมีบทบาทที่สนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินยังผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน พ.ค.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน หดตัวร้อยละ -10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวร้อยละ -5.1 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยนักท่องเที่ยวที่หดตัวมากที่สุดได้แก่ จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้แก่ ลาว อังกฤษ และเวียดนาม
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 84.0 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย อีกทั้งมีการทยอยการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน รวมทั้งช่วยส่งเสริมด้านการผลิตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบและพลังงาน ทำให้ค่าดัชนีในเดือนนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อย
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และต่อเนื่องไปถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 57 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยคาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนที่ชะลอการผลิตในช่วงก่อนหน้านี้กลับมาผลิตเพิ่มขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ผลจากราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 57 Fed มีมติปรับลดขนาดมาตรการ QE ลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเดือนละ 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 57 กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี ที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และภูมิภาคเอเชียที่กลับมาหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ และมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวครั้งแรกเช่นกันใน 1 ปีครึ่ง ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ลดลงมากกว่ามูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเดียวกัน ขาดดุลมูลค่า -9.1 แสนล้านเยน ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการผลิตสินค้าเกือบทุกหมวดที่ชะลอลงจากช่วงก่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นสินค้าหมวดโลหะที่มิใช่เหล็กและเครื่องใช้สำนักงาน

China: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปี ก่อน ใกล้เคียงกับร้อยละ 8.7 ในเดือนก่อนหน้า ราคาบ้าน เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน แม้ราคาบ้านใน 69 เมืองจาก 70 เมืองจะยังคงเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงมาก เป็นสัญญาณว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังลดความร้อนแรงลงต่อเนื่อง โดยราคาบ้านในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และปักกิ่ง ขยายตัวร้อยละ 9.6 9.4 8.7 และ 7.6 ตามลำดับ

Eurozone: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 57 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 57 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 57 เกินดุล 15.7 พันล้านยูโร อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือลดลง ร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ตามราคาสินค้าในหมวดอาหาร และพลังงานที่ยังคงปรับตัวลดลง โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สะท้อนว่ายูโรโซนยังคงมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

Singapore: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 57 หดตัวร้อยละ -9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.8 จากยอดขายรถยนต์ที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -33.0 เนื่องจากมาตรการขึ้นอัตราภาษีจดทะเบียนรถยนต์ยังคงส่งผลกระทบอยู่ ประกอบกับยอดขายเครื่องประดับและอัญมณีหดตัวร้อยละ -11.8 หดตัวเป็นครั้งแรกหลังจากเดือนก่อนขยายตัวร้อยละ 4.8 ด้านการค้าต่างประเทศ มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่หดตัวร้อยละ -11.6 และ -7.2 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 5.8 ผลจากการนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักรที่หดตัวร้อยละ -6.4 เป็นสำคัญ โดยสรุป ดุลการค้า เดือน พ.ค. 57 เกินดุล 3.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านเสถียรภาพ อัตราว่างงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 1.8 ผลจากการจ้างงานใหม่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 9.2

Philippines: mixed signal

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 57 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายในระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของปี 57 ที่ร้อยละ 3.0 - 5.0

Hong Kong: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวม ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.2 ในเดือนก่อนหน้า โดยการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้น 19,000 ตำแหน่ง และกำลังแรงงานรวมเพิ่มขึ้น 18,500 คน ทำให้มีผู้ว่างงานลดลง 500 คน

India: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในเดือนก่อนหน้า หลังจากที่มีแนวโน้มชะลอลงหลังการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางอินเดียตั้งแต่ช่วงปลายปี 56 โดยในเดือน พ.ค. 57 ราคาสินค้าในทุกหมวดเร่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าหมวดอาหารขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 8.6 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ราคาสินค้าหมวดพลังงานขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 8.8 จากร้อยละ 4.4 ในเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีมานโมฮาน สิงห์ ได้ขึ้นราคาน้ำมันดีเซลในเดือน พ.ค. 57 ส่งผลให้ต้นทุนการคมนาคมขนส่งเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาสินค้าในหมวดอื่นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ การกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. 57 นี้ ลดความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอินเดียอาจตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

Weekly Financial Indicators

  • ดัชนี SET อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนช่วงต้นสัปดาห์ และลดลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 19 มิ.ย. 57 ปิดที่ 1,461.91 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 43,539 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ จากทั้งปัจจัยในและต่างประเทศ โดยในวันที่ 18 มิ.ย. 57 กนง. ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี เป็นไปตามที่ตลาดคาด และคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 57 ที่ร้อยละ 1.5 ด้านปัจจัยต่างประเทศ ผลการประชุม FOMC ของสหรัฐฯ ประกาศลดขนาด QE ลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเหลือเพียง 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยในระหว่างวันที่ 16 - 19 มิ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 8,516.69 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย ประมาณ 1-5 bps โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 10 ปี จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16 - 19 มิ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 615.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 19 มิ.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.15 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินยูโร สวนทางกับค่าเงินสกุลสำคัญอื่นๆ ที่มีทิศทางอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลส่วนใหญ่ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.32 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 19 มิ.ย. 57 ปิดที่ 1,319.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,271.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ