รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 18, 2014 11:08 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. HSBC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 57 เหลือร้อยละ 1.4

2. มูลค่าการส่งออกของสิงคโปร์ เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3.กลุ่มธุรกิจเดอแวร์กล่าวว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสที่ 2 ปี 57 จำเป็นต้องขยายตัวที่ร้อยละ 2.0

1. HSBC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 57 เหลือร้อยละ 1.4
  • นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคาร HSBC ประเทศไทย กล่าวว่า HSBC ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 57 ลงเหลือร้อยละ 1.4 จากเดิมซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3.0 โดยสาเหตุของการปรับลดคาดการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการส่งออกที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม HSBC มองว่า เศรษฐกิจไทยในระยะยาวจะมีทิศทางเป็นบวกมากขึ้นในปี 58 ซึ่งคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.0 จากอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวเป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยช่วงต้นปี 57 ได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นภายในประเทศเป็นสำคัญ สะท้อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีทิศทางการเติบโตที่แผ่วลง ส่งผลให้ GDP ไตรมาส 1 ปี 57 หดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ จากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลงส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นจึงเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ กอปรกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่กลับมาปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุดในเดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 65.3 จุด สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ค. 57 ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. จะมีการประกาศประมาณการเศรษฐกิจครั้งต่อไปในปลายเดือน ก.ค. 57
2. มูลค่าการส่งออกของสิงคโปร์ เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติสิงคโปร์ประกาศ มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.2 ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปยังมาเลเซียที่ขยายตัวร้อยละ 18.2 เป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากการนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักรที่หดตัวร้อยละ -1.7 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน มิ.ย. 57 เกินดุล 5.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของสิงคโปร์ เดือน มิ.ย. 57 จะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมจะพบว่า มูลค่าการส่งออก ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 7.6 ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลข GDP ของสิงคโปร์ ในไตรมาสที่ 2 (ตัวเลขเบื้องต้น) ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.2 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการชะลอลงของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.9 ทั้งนี้ ตัวเลขเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจข้างต้นที่มีแนวโน้มชะลอลงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของสิงคโปร์ คือ ปัญหาตลาดแรงงานตึงตัว กล่าวคือ มีจำนวนแรงงานน้อยกว่าจำนวนตำแหน่งงาน ทั้งนี้ตลาดแรงงานในช่วง 2-3 ปีนี้มีแนวโน้มตึงตัวยิ่งขึ้น เนื่องจากภาครัฐสิงคโปร์ใช้มาตรการควบคุมการจ้างงานแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดความไม่พอใจของประชาชนสิงคโปร์ที่มีต่อแรงงานต่างชาติ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสิงคโปร์ ทำให้ค่าแรงโดยรวมสูงขึ้น ภาคธุรกิจบางส่วนเริ่มย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศอื่นแทน รัฐบาลสิงคโปร์จะดำเนินแก้ไขปัญหาตลาดแรงงานตึงตัวอย่างไร เป็นประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
3. กลุ่มธุรกิจเดอแวร์กล่าวว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสที่ 2 ปี 57 จำเป็นต้องขยายตัวที่ร้อยละ 2.0
  • นายโทนี่ อีวาน นักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มธุรกิจเดอแวร์ โตเกียว กล่าวว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ปี 57 จำเป็นต้องขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพื่อให้นายชินโซ อาเบะ รัฐมนตรีญี่ปุ่นสามารถปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มระยะที่ 2 เป็นร้อยละ 10 ได้ในปี 58 ทั้งนี้ การประชุมเพื่อลงมติการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีขึ้นในเดือนธ.ค. 57 โดยจะมีการนำข้อมูลเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 มาใช้ร่วมในการพิจารณาด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขาดปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายภาครัฐ เนื่องจากมาตรการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งรวมถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ที่ช่วงเดือน เม.ย. 57 ที่ผ่านมา และเป็นร้อยละ 10 ในปี 58 อีกทั้งภาคอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.4 และร้อยละ 19.9 ของ GDP ปี 56) ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 57 ก็ยังคงแสดงสัญญาณที่ไม่ชัดเจน สะท้อนจากยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 41.2 จุด ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ต้องจับตาการประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ปี 57 ในวันที่ 13 ส.ค. 57 ที่จะถึงนี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ