รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 29, 2014 10:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. พาณิชย์เผยส่งออกมิ.ย.ขยายตัวร้อยละ 3.9

2. ธปท. คาดสินเชื่อรวมครึ่งปีหลังดีขึ้น ขณะที่เดือนมิ.ย.ขยายตัวร้อยละ 7.3

3. ECB ย้ำ ยังผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป

1. พาณิชย์เผยส่งออกมิ.ย.ขยายตัวร้อยละ 3.9
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 57 มีมูลค่า 19,842.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.90 และระยะ 6 เดือน (ม.ค. - มิ.ย. 57) มีมูลค่า 112,704.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.35 ขณะที่ การนำเข้าเดือน มิ.ย. 57 มีมูลค่า 18,049.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.03 และระยะ 6 เดือน (ม.ค. - มิ.ย. 57) มีมูลค่า 112,467.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.00 ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศ เดือน มิ.ย. 57 เกินดุลรวม 1,792.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และระยะ 6 เดือน (ม.ค. - มิ.ย. 57) เกินดุลรวม 236.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย.57 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวได้เกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรกรรมที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 12.3 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 3.4 3.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพิจารณามิติด้านรายตลาดพบว่า การส่งออกไปยังตลาด G3 จีนและกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 57 คาดว่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 57 เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชัดเจนมากขึ้น
2. ธปท. คาดสินเชื่อรวมครึ่งปีหลังดีขึ้น ขณะที่เดือนมิ.ย.ขยายตัวร้อยละ 7.3
  • ประธานกรรมการหอการค้าไทย นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองแนวโน้มสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ในครึ่งหลังปีนี้ มีโอกาสขยายตัวดีขึ้น หลังเดือนมิ.ย.เติบโตร้อยละ 7.3 จากความเชื่อมั่น และการลงทุนมีมากขึ้น คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 10.9 ล้านล้านบาท หรือมีสินเชื่อใหม่ เพิ่มขึ้นประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก ขณะที่ สินเชื่อของธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)มีอัตราขยายตัวได้สูงกว่าสินเชื่อรวม โดยเดือน มิ.ย. ขยายตัวร้อยละ 9.1 คิดเป็นวงเงินประมาณ 4 ล้านล้านบาท
  • สศค.วิเคราะห์ว่า สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ในเดือนมิ.ย. เติบโตขึ้นร้อยละ 7.3 เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะดีขึ้น จากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ซึ่งภาคธุรกิจจะขยายการผลิตเพื่อตอบรับแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. ที่ระดับ 65.3 ซึ่งปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน อีกทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อยังไม่เป็นปัจจัยกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จากอัตราร้อยละ 2.0 ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีมาตรการผ่อนคลายในการปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs กอปรกับบอร์ดบีโอไอได้มีการอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนที่คั่งค้างได้ร้อยละ 35 และมีการอนุมัติอีก 15 โครงการขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังจากที่หดตัวที่ร้อยละ -7.3 ในไตรมาสแรก ทั้งนี้สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ถือว่ายังคงทรงตัว โดยในเดือนมิ.ย.อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ขณะที่เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 2.4
3. ECB ย้ำ ยังผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป
  • นายมารโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป กล่าวว่า ยังคงจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหรือรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับติดลบร้อยละ 0.1 ต่อไปอีกนาน เพื่อผลักดันเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ร้อยละ 2 นอกจากนี้ นายวิคเตอร์ คอนสแตนซิโอ รองประธานธนาคารกลางยุโรปยอมรับว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ส่งผลกระทบต่อประเทศเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่ในมุมมองของผู้ดำเนินนโยบาย ยังมีความจำเป็นต้องทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงไปมากกว่านี้ต่อระบบเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารกลางยุโรปยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในลำดับต่อไป นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวก็ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์อื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่ง ECB จะมีการใช้มาตรการเกี่ยวกับสถาบันการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดังกล่าว แสดงถึงความมีเสถียรภาพด้านการใช้นโยบายการเงินที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ทั้งหมด แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินดังกล่าวอาจช่วยให้เศรษฐกิจยูโรโซนปรับตัวดีขึ้นได้บ้าง ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ