รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 4, 2014 10:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2557

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์ คาดอัตราเงินเฟ้อปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.35

2. สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทยคาดส่งออกไก่ปี 57 มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท

3. จีนกังวลสินเชื่อโตแรง

1. กระทรวงพาณิชย์ คาดอัตราเงินเฟ้อปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.35
  • นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน ก.ค. 57 เท่ากับ 107.70 หรือคิดเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากการลดลงของราคาอาหารสดและพลังงาน โดยเฉพาะผัก และผลไม้สด จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และเป็นช่วงฤดูการผลิตของผลไม้หลายชนิด ส่วนราคาพลังงานก็ปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดโลก ประกอบกับมาตรการดูแลค่าครองชีพของ คสช. มีผลทำให้เงินเฟ้อไม่สูงมากนัก ขณะที่ในช่วง 7 เดือนของปี 57 อัตราเงินเฟ้ออยู่ร้อยละ 2.23 และคาดว่าทั้งปี 57 เงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 2.35
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การที่อัตราเงินเฟ้อในช่วง 7 เดือนแรกปี 57 อยูที่ร้อยละ 2.2 สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านราคาที่ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากปี 56 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ตามแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ประสบปัญหาภัยแล้งและสินค้าที่ขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป และบริการต่างๆ ได้เริ่มทยอยปรับขึ้นราคา เช่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี นโยบายการตรึงราคาก๊าซ LPG และน้ำมันดีเซลตลอดจนมาตรการตรึงราคาสินค้าจะช่วยชะลออัตราเร่งของเงินเฟ้อลงได้บ้าง
2. สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทยคาดส่งออกไก่ปี 57 มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึง แนวโน้มการส่งออกไก่สดและแปรรูปของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังจากหลายประเทศยกเลิกห้ามนำเข้าไก่สดไทย เนื่องจากมีศักยภาพและมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ตลอดจนขั้นตอนการผลิตสะอาดปลอดภัยและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย คาดว่าไก่สดและแปรรูปปี 57 จะอยู่ที่ 5.6 -5.7 แสนตัน มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 5.3 แสนตัน มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท
  • สศค.วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การส่งออกไก่สดและไก่แปรรูปในช่วงครึ่งแรกปี 57 มีแนวโน้มสดใส ซึ่งจากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปี 57 การส่งออกไก่แปรรูปอยู่ที่ 3.04 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 8.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การส่งออกไก่แช่แข็งอยู่ที่ 0.45 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวในอัตราเร่งที่ ร้อยละ 48.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยตลาดส่งออกหลักได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และลาว ทั้งนี้จากการที่หลายประเทศได้มีการยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดไทย จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกไก่สดและไก่แปรรูปขยายตัวต่อเนื่องในปี 57 ต่อไป
3. จีนกังวลสินเชื่อโตแรง
  • ธนาคารกลางของจีน (The People's Bank of China) ส่งสัญญาณแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การเติบโตอย่างร้อนแรงและต่อเนื่องของสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจของตนเอง เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาได้ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ระดับหนี้ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 206.3 จาก ร้อยละ 202.1 ในไตรมาสแรก โดยทางธนาคารกลางได้เน้นย้ำถึงความพร้อมในการใช้เครื่องมือทางนโยบายการเงินต่างๆ ได้แก่ Open market operations, Reserve requirement, Relending, Standing lending facilities และ Short-term liquidity operations เพื่อชะลอการเติบโตดังกล่าว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จีนมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องควบคุมเสถียรภาพในด้านการเงิน เนื่องจากการเติบโตในระดับนี้สร้างความเปราะบางแก่ระบบเศรษฐกิจซึ่งอาจนำไปสู่การ หดตัวของเศรษฐกิจอย่างฉับพลันได้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยถึงข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวข้องที่น่าสนใจ คือ ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่เคยมีการเติบโตของหนี้ในระดับที่เป็นอยู่ในจีนในปัจจุบัน(จำนวน 3 ประเทศ) ได้เผชิญกับวิกฤติการณ์ในภาคธนาคารภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ด้วยความจำเป็นที่จะลดความเสี่ยงของวิกฤติดังกล่าว ทำให้เป้าหมายการกระตุ้นการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริงของรัฐบาลจีนในปี 57 นี้ที่ร้อยละ 7.5 เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น เนื่องจาก การดำเนินนโยบายเพื่อชะลอการขยายตัวของสินเชื่อย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อการขยายตัวในภาคเศรษฐกิจจริง และนี่เป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อประเทศคู่ค้าซึ่งรวมถึงไทยด้วยเช่นกัน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ