รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 15, 2014 11:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2557

Summary:

1. จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมายังไทยในเดือน ก.ค. 57 หดตัวชะลอลง

2. อัตราเงินเฟ้ออินเดียเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน

1. จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมายังไทยในเดือน ก.ค. 57 หดตัวชะลอลง
  • กรมการท่องเที่ยวรายงานสถานการณ์ท่องเที่ยวเดือน ก.ค. 57 โดยมีนักท่องเที่ยวจำนวน 1.9 ล้านคน หดตัวร้อยละ -10.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวชะลอลงจากร้อยละ -24.4 ในเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในเดือน ก.ค. 57 ที่หดตัวชะลอลง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 57 ประกอบกับการสร้างความเข้าใจกับนานาประเทศ และสถานการณ์โดยรวมภายในประเทศที่สงบ ปราศจากการเดินขบวนประท้วงต่างๆ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน ก.ค. 57 ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี มีจำนวนนักท่องเที่ยวแดินทางเข้ามายังไทยจำนวน 13.6 ล้านคน เป็นการหดตัวร้อยละ -10.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวมูลค่าเท่ากับ 6.3 แสนล้านบาท หดตัวร้อยละ -7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าในปี 57 จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติจำนวน 26.7 ล้านคนเดินทางเข้ามายังไทย คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57)
2. อัตราเงินเฟ้ออินเดียเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.4 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้ออินเดีย เดือน ก.ค. 57 ที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่ขยายตัวชะลอลงเป็นสำคัญ โดยขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับร้อยละ 4.4 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ราคาสินค้าหมวดอาหารยังคงขยายตัวในอัตราสูงและเร่งขึ้นจากร้อยละ 8.1 ในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 8.4 ในเดือนนี้ ผลจากสภาพอากาศที่มีฝนตกน้อยทำให้ไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงต้นของฤดูมรสุม ดังนั้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 แล้ว แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อการผลิตอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคจนเกิดเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มเติม ประกอบกับค่าเงินรูปีที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่า ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางอินเดียจึงได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ก.ค. 57 ให้อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 8.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเช่นนี้ อาจไม่เป็นผลดีต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็ตาม ซึ่งการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อเป็นหลักนี้ สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีนเรนดรา โมดี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 57 และได้ประกาศว่าจะเร่งรัดแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่เรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศเป็นสำคัญ
3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.50 ต่อปี เพื่อเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 2.5 - 3.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปีในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการเกาหลีใต้ ภายหลังจากอุบัติเหตุเรือเฟอร์รี่ข้ามฝั่งล่มเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 57 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชนในประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยวและประชาชนชะลอการใช้จ่าย ทำให้ภาคการบริการการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภาคเอกชนในประเทศชะลอตัว ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐเป็นจำนวนมูลค่า 11.7 ล้านล้านวอน (11.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นร้อยละ 0.9 ของ GDP เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้ต่ำมีที่อยู่อาศัย อันเป็นการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ของเกาหลีใต้ สอดคล้องกับที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้เพิ่มวงเงินของมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่บริษัทขนาดเล็กจาก 12 ล้านล้านวอนมาอยู่ที่ 15 ล้านล้านวอน เพื่อเพิ่มอัตราการจ้างงานและกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเกาหลีใต้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 57 ณ เดือน มิ.ย. 57 โดยขยายตัวร้อยละ 3.7 ลดลงจากร้อยละ 3.9 ในการคาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 57 โดยการคาดการณ์ครั้งนี้ได้รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอยู่ในการคำนวณด้วยแล้ว

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ