รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 25, 2014 14:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2557

Summary:

1. พาณิชย์ชี้เออีซีมีผลเงินเฟ้อขึ้นร้อยละ 0.22

2. TMB คาดในปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 25.0 ล้านคน

3. เยลเลน และ ดรากี ส่งสัญญาณคนละขั้วนโยบาย

1. พาณิชย์ชี้เออีซีมีผลเงินเฟ้อขึ้นร้อยละ 0.22
  • นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนย.)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนย. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยพบว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 0.22 เนื่องจากการเปิดเออีซีทำให้เศรษฐกิจภาพรวมโตมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จะทำงานแบบบูรณาการกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคเอกชนต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ผ่านช่องทางภาคการบริโภค ภาคการลงทุน และภาคการส่งออกสินค้าและบริการ เนื่องจากกลุ่มตลาด AEC มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคนที่มีกำลังการซื้อสูง โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังกลุ่มอาเซียน ได้แก่ รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา และเม็ดพลาสติก ซึ่งจะเป็นแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์ให้เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจภูมิภาคที่เติบโตขึ้น โดยแหล่งที่มาของการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะมาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (สัดส่วนร้อยละ 33.5 ของตะกร้าเงินเฟ้อ) และหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร (สัดส่วนร้อยละ 25.5) ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 และปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 และ 2.5 ตามลำดับ (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57)
2. TMB คาดในปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 25.0 ล้านคน
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินภาคการท่องเที่ยวไทยว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และน่าจะฟื้นเข้าใกล้ระดับปกติได้ตั้งแต่เดือน ส.ค.57 เป็นต้นไป โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ระดับ 25 ล้านคน หรือลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองคือ สถานการณ์การกระจายของโรคอีโบล่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมด้านการท่องเที่ยวของไทย มีแนวโน้มสดใสในช่วงครึ่งหลังของปี 57 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในแถบภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนก.ค. 57 ที่หดตัวในอัตราชะลอลงมากที่ร้อยละ -10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -24.4 บ่งชี้ว่าภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 13.6 ล้านคน หรือหดตัวร้อยละ -10.5 เมื่อทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดย สศค. คาดว่า ในปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะอยู่ที่ 26.7 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 จากปี 56
3. เยลเลน และ ดรากี ส่งสัญญาณคนละขั้วนโยบาย
  • ในงานประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ แจ็คสันโฮลล์ รัฐไวโอมิง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมคนสำคัญ ได้แก่ นางเจเน็ท เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ และนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้กล่าวถึงมุมมองและจุดยืนด้านนโยบายของหน่วยงานของตนไปในทิศทางที่ต่างกันอย่างชัดเจน คือ นางเยลเลนกล่าวว่า เฟดฯ พร้อมลดระดับการกระตุ้นเข้าสู่ระดับปกติหากสถานการณ์ในตลาดแรงงานอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ขณะที่นายดรากีมองว่ายุโรปยังต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่า การลดการกระตุ้นของสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นในปีหน้า และคาดว่า ECB น่าจะเริ่มลดการกระตุ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่ทั้งสองภูมิภาคดำเนินนโยบายผ่อนคลายร่วมกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ตอนนี้ถึงจุดที่นโยบายทั้งสองแยกออกจากกัน (Divergence) เนื่องจากความเร็วในการฟื้นตัวที่ต่างกัน โดยสหรัฐฯ มีความเร็วในการฟื้นตัวมากกว่า ขณะที่ยุโรปยังอ่อนแอในภาพรวม นัยยะของ Divergence ต่อตลาดการเงินโลก คือ จะต้องเผชิญกับความ ผันผวนที่สูงขึ้นอีกระลอก อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ จอห์น เทย์เลอร์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐฯ ให้ความเห็นต่อการเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า หากการขึ้นดอกเบี้ยเป็นไปอย่างชัดเจนและสามารถคาดเดาได้จะช่วยลดความผันผวนในตลาดเงินลง นอกจากนี้ บรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่(Emerging markets) ได้เผชิญกับความผันผวนมาระยะหนึ่งแล้วจึงน่าจะสามารถรับมือกับผลพวงของการขึ้นดอกเบี้ยได้ดี ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีเพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ