รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 13 - 22 สิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 25, 2014 15:07 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ค. 57 หดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.ค. 57 หดตัวชะลอลงร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย เดือน ก.ค.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.92 ล้านคน หรือหดตัวร้อยละ -10.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ ระดับ 89.7
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 2 ปี 57 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วง เดียวกันปีก่อน ขณะที่ GDP สหภาพยุโรป ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จาก ช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ GDP สิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 2.4
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน โดย HSBC เดือน ส.ค. 57 ที่ระดับ 50.3 จุด

Indicator next week

Indicators          Forecast  Previous
Jul :  MPI (%yoy)     -5.0      -6.6
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมในทิศทางที่ดี สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 57 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะประกอบกิจกรรมการผลิตมากขึ้น
Economic Indicators: This Week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.5 ตามการขยายตัวของทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนและการบริโภคภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.2 และร้อยละ 1.9 ขณะที่การลงทุนรวมหดตัวในอัตราชะลอลงร้อยละ -6.9 จากไตรมาสก่อนที่หดตัว 9.3 ส่วนอุปสงค์ภายนอกประเทศส่งสัญญาณฟื้นตัวจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ขณะที่การนำเข้าสินค้าหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -10.8 ทั้งนี้หากพิจารณาด้านการผลิต พบว่าการผลิตสาขาเกษตร และสาขาขนส่ง สื่อสาร โทรคมนาคม ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ ขณะที่การผลิตสาขาอุตสาหกรรม และก่อสร้างหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -1.6 และร้อยละ -3.2 ตามลำดับ ส่วนสาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.2 ตามการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว จากปัญหาการเมืองในประเทศในช่วงต้นไตรมาส ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 57 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ค. 57 ได้จำนวน 130.1 พันล้านบาท ลดลง ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 17.8 พันล้านบาท หรือร้อยละ -12.1 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -0.6 โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -5.3 ตามการปรับลดอัตราภาษี และ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี งปม. 57 (ต.ค. 56 - ก.ค. 57) ได้จำนวน 1,678.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 132.2 พันล้านบาท หรือร้อยละ -7.3
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนก.ค.57 มีมูลค่า 55.7 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.2 ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.8 ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกปี 57 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -11.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.8 (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 5.0 จากเดือนก่อนหน้า) เนื่องจากสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นไปมากในปี 56 จากความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 57 สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน มิ.ย. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -17.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.ค. 57 หดตัวชะลอลงร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ร้อยละ -4.2 (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า)บ่งชี้ถึงการลงทุนในการก่อสร้างเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่คาดว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดที่ยังคงชะลอลง เช่นเดียวกับอุปทานที่ชะลอตัว สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน มิ.ย. 57 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -17.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน ก.ค.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.92 ล้านคน หรือหดตัวร้อยละ -10.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนแต่ขยายตัวร้อยละ 13.0 จากเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การเมืองไทยที่มีเสถียรภาพ และมีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศ โดยเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง อาเซียน และแอฟริกาที่กลับมาขยายตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวภาพรวมในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ยุโรป และกลุ่มอื่นๆ มีการหดตัว
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.6 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตยางพาราและมันสำปะหลังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลง ทำให้ผลผลิตออกมาเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวในต่อเนื่อง โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อ จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีรายงานสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน ก.ค.57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.1 ตามราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตหลักอย่างเวียดนามและอินเดีย อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.9 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.9 ตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาผลผลิตกุ้งขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.7 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 89.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 88.4 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม เป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลาย ประกอบกับการดำเนินกิจการมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs รวมทั้งความตื่นตัวด้านการค้าชายแดน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นปัจจัยบวกให้ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการตัดสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรป และจากปัญหาด้านฤดูกาลที่เป็นอุปสรรค์ต่อการจำหน่าย
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 57 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.20 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.1 (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่เงินฝากขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ตามการกลับมาทยอยออกแคมเปญระดมเงินฝากและขยายฐานลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เพื่อสนับสนุนให้ระดับสภาพคล่องเพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค. 57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมในทิศทางที่ดี สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 57 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะประกอบกิจกรรมการผลิตมากขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.04 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากยอดขายอาหารและเครื่องดื่มที่เร่งขึ้น ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ 494,000 หลัง หดตัวร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคากลางบ้านมือสอง อยู่ที่ 222,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลัง

China: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 12.4 ในเดือนก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีกอ่น ชะลอลงจากร้อยละ 9.2 ในเดือนก่อน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย HSBC (เบื้องต้น) เดือน ส.ค. 57 ลดลงอยู่ที่ระดับ 50.3 จุด จาก 51.7 จุด ในเดือนก่อนและเป็นระดับต่ำที่สุดใน 3 เดือน ราคาบ้าน เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และต่ำสุดในรอบ 17 เดือน โดยหดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

Japan: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.7 จากไตรมาสก่อนหน้า(ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวเป็นหลัก หลังปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรปที่ขยายตัวเร่งขึ้น มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล9.64 แสนล้านเยน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 41.8 จุด

Eurozone: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวเพียงร้อยละ 0.04 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากเศรษฐกิจของประเทศหลัก อาทิ เยอรมนีและอิตาลีที่หดตัว มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นที่ 16.8 พันล้านยูโร อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 57 ลดลงต่ำสุดในรอบ 57 เดือน มาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน บ่งชี้ความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่เพิ่มขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ส.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.8 โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 50.8 และ 53.5 สะท้อนภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณชะลอลง ถึงแม้จะยังคงขยายตัวก็ตาม

Indonesia: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 จากยอดขายอุปกรณ์สื่อสารที่ขยายตัวร้อยละ 42.6 เป็นหลัก

Malaysia: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 หรือขยายตัวร้อยละ 1.8 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากการส่งออกและการลงทุนรวมที่ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากราคาอาหารชะลอตัว

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 หรือขยายตัวร้อยละ 0.02 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการลงทุนที่ชะลอลงถึงหดตัวที่ร้อยละ 1.3 2.5 และ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากการส่งออกไปอินโดนีเซียที่หดตัวร้อยละ -20.8 ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -3.5 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 4.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Hong Kong: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวชะลอลงเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากค่าสาธารณูปโภคที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24.8 เป็นสำคัญ อัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ตามอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว

Philippines: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 21.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ผลหลักจากการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวดี

India: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยูโรโซนที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.3 ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1.2 หมื่นล้านรูปี ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตสินค้าขั้นกลาง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าคงทนที่ชะลอเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 57 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาที่ร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าพลังงานที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ

South Korea: improving economic trend

อัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 57 ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม จากการจ้างงานในทุกภาคส่วนที่เพิ่มขึ้น

United Kingdom: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.8 จาก ไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) อัตราว่างงาน เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดตั้งแต่ปี 51 ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 57 ที่ 1,550.77 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 42,978.15 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ผลจากที่ประชุม สนช.มีมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทยเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 57 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 ก.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 384.08 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่ปรับลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศ ผลจากรายงานการประชุม FOMC ที่ Fed ส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดภายในต้นปี 58 ทั้งนี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตร Benchmark ในวันที่ 18 และ 20 ส.ค. 57 มีผู้สนใจค่อนข้างมาก ทำให้ระหว่างวันที่ 18 - 21 ส.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 3,384.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 21 ก.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.20 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลเยน และยูโร ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.03 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 21 ส.ค. 57 ปิดที่ 1,276.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งต่ำกว่าต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,297.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ