รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 2, 2014 11:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 กันยายน 2557

Summary:

1. พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือร้อยละ 2.2

2. สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผยไทยส่งออกข้าว เดือน ก.ค. ส่งออกสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 9.4 แสนตัน

3. บริโภคสหรัฐฯ หดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

1. พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือร้อยละ 2.2
  • นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) เดือน ส.ค.57 อยู่ที่ 107.61 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลง ร้อยละ 0.08 เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.57) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.21 และคาดว่า เงินเฟ้อทั้งปีจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.21 จากเดิมที่คาดจะขยายตัวร้อยละ 2.35
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของราคาอาหารสดและพลังงาน (สัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 26.9) โดยเฉพาะหมวดผักและผลไม้สดมีราคาลดลงต่อเนื่อง โดยราคาพลังงานลดลง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกเฉลี่ยภายในประเทศลดลงตามราคาตลาดโลก รวมทั้งนโยบายปรับโครงสร้างราคาพลังงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อให้ลดลง ทำให้ยังคงมีเสถียรภาพที่เอื้อต่อการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์ ณ ก.ค.57)
2. สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผยไทยส่งออกข้าว เดือน ก.ค. ส่งออกสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 9.4 แสนตัน
  • สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือนแรกปี 57 มีปริมาณทั้งสิ้น 5.62 ล้านตัน มูลค่า 90,850 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.5 และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 56 ที่มีการส่งออกปริมาณ 3.61 ล้านตัน มูลค่า 75,348 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกในเดือน ก.ค. 57 เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบปีนี้ และสูงที่สุดตั้งแต่ ส.ค. 54 โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสูงถึง 941,691 ตัน เนื่องจากเป็นช่วงระบายสต็อกข้าวของโครงการรับจำนำข้าว อีกทั้งระดับราคาข้าวไทยยังคงอยู่ในระดับเดียวกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามและอินเดีย โดยในเดือน ก.ค. 57 ราคาข้าวไทยอยู่ที่ 420 ดอลลาร์ต่อตัน ในขณะที่ราคาข้าวของเวียดนามอยู่ที่ 425 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้ข้าวไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งประเทศที่นำเข้าข้าวไทยสูงสุดในเดือน ก.ค. ได้แก่ ไอวอรีโคสต์ มาเลเซีย และจีน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.93 9.38 และ 8.24 ของปริมาณการส่งออกข้าวขาวทั้งหมดตามลำดับ อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตข้าวเปลือกของไทยในเดือน ก.ค. หดตัวร้อยละ -35.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบที่ 2 ที่ได้ชะลอการปลูกลงเนื่องจากความกังวัลปัญหาภัยแล้งในเดือน เม.ย ที่ผ่านมา
3. บริโภคสหรัฐฯ หดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
  • การบริโภคของภาคครัวเรือนในสหรัฐฯ เดือน ก.ค. ที่ผ่านมาลดลงร้อยละ -0.1 หลังจากเดือนก่อนหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ถือเป็นการปรับลดของการบริโภคครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยเป็นการปรับลดในทุกหมวดสำคัญ ได้แก่ การบริโภคหมวดสินค้าคงทนหลังหักเงินเฟ้อปรับลดร้อยละ -0.6 สินค้าไม่คงทนปรับลดร้อยละ -0.2 และสินค้าบริการปรับลดร้อยละ -0.1 โดยสาเหตุมาจากการปรับลดลงของรายได้ที่แท้จริงของผู้บริโภคโดยในเดือนเดียวกันนี้รายได้หลังหักเงินเฟ้อปรับลดลงร้อยละ -0.2 นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังเริ่มนำรายได้ไปเก็บออมมากขึ้น โดยยอดเงินฝากเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 55 ทั้งนี้ การปรับลดของการบริโภคในเดือนนี้ถือเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย จากผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 79 รายโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่ได้คาดการณ์ถึงการหดตัวของการบริโภคแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้น S&P ของสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงของการประกาศข้อมูลดังกล่าว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดต่ำลงของการบริโภคในสหรัฐฯ มีสาเหตุมาจากการที่ค่าจ้างปรับตัวขึ้นช้า ส่งผลให้แรงงานขาดความเชื่อมั่นต่ออำนาจซื้อของตน สศค. มองว่าการลดลงของการใช้จ่ายด้านการบริโภคในเดือน ก.ค. ประกอบกับ ยอดขายด้านค้าปลีกในเดือนเดียวกันที่ชะลอการเติบโตเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และแนวโน้มรายได้ที่แท้จริงที่ยังไม่มีการปรับเพิ่มอย่างชัดเจนเป็นสัญญาณของการชะลอตัวของการบริโภคในไตรมาสที่ 3 เช่นเดียวกันกับธนาคารมอร์แกนสแตนเลย์ และธนาคารบาร์เคลย์ที่ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงจากปัจจัยดังกล่าวเป็นสำคัญโดยมอร์แกนสแตนเลย์ปรับประมาณการการเติบโตในไตรมาสที่ 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐแบบ annualized ลงเหลือร้อยละ 2.6 จากที่เคยคาดไว้ที่ร้อยละ 3.2 ด้านบาร์เคลย์ปรับลดเหลือร้อยละ 2.2 จากเดิมร้อยละ 2.7

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ