รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 17, 2014 11:42 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2557

Summary:

1. สศอ. แนะอุตสาหกรรมไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมระดับสูง และร่วมมือกลุ่ม CLMV

2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดหนี้ครัวเรือนสิ้นปี 2557 จะเพิมขึ้นเป็นร้อยละ 85 ของ GDP

3. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลงต่ำสุดในรอบ 1 ปี 4 เดือน

1. สศอ. แนะอุตสาหกรรมไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมระดับสูง และร่วมมือกลุ่ม CLMV
  • ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง "อยู่หรือไป? อนาคตอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" จัดโดยสศอ. และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงในอนาคตจะเป็นทั้งตลาดและฐานการผลิตที่สำคัญของหลายอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก ทั้งนี้ ผอ. สศอ. แนะนำว่าเมื่อเข้าสู่ AEC อุตสาหกรรมไทยควรเร่งปรับตัวสู่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับฐานการผลิตใหม่ในกลุ่มประเทศ CLMV ที่ใช้แรงงานเข้มข้น พร้อมทั้งเร่งพัฒนาการวิจัยและพัฒนา (R&D) ควบคู่กันไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยประสบปัญหาแรงงานขาดแคลน สะท้อนจากอัตราว่างงานล่าสุดในเดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม ภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จึงต้องแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วยการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ที่มีค่าแรงต่ำ อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หากต้องการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับฐานการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นใน CLMV ภาคธุรกิจไทยควรเร่งยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยการทำ R&D ทั้งนี้ ในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในด้าน R&D ของไทยในปี 2556 ยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.22 ของ GDP นอกจากนี้ R&D ของไทยมักไม่ได้รับการนำไปใช้ประโยชน์จริง ภาครัฐจึงควรมีบทบาทในการเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงภาคธุรกิจของไทยกับหน่วยงานวิจัยให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาผลงานด้าน R&D ที่สามารถนำไปไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์ต่อไป
2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดหนี้ครัวเรือนสิ้นปี 57 จะเพิมขึ้นเป็นร้อยละ 85.0 ของ GDP
  • ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย คาดแนวโน้มของระดับหนี้ครัวเรือนของไทยในปีนี้ ว่าจะมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 2 ปี 57 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 83.5 ต่อ GDP หรือมีมูลค่าประมาณ 10.0 ล้านล้านบาท จากไตรมาสแรกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 82.8 ต่อ GDP ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าหากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอาจมีส่วนส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนก่อหนี้มากขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งหากหนี้ครัวเรือนเพิ่มเป็นร้อยละ 85 ต่อ GDP จะมีผลให้ภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยของครัวเรือนแตะระดับร้อยละ 40 ของรายได้ครัวเรือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยได้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 2 ปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาส 1 ปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ดี สัดส่วนสินเชื่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPLs) ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.8 นอกจากนี้ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ปรับสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของ GDP ที่ในครึ่งแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนั้น หากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในขณะที่ระดับหนี้ครัวเรือนเติบโตช้าลง ก็จะส่งผลให้ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงในระยะต่อไป
3.อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลงต่ำสุดในรอบ 1 ปี 4 เดือน
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ณ วันที่ 15 ต.ค. 57 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.092 ต่อปี ลดลงมากจากร้อยละ 2.206 ในวันก่อนหน้า หรือลดลง 5.168 basis points จากวันก่อนหน้า โดยระหว่างวัน อัตราผลตอบแทนดังกล่าวปรับตัวลดลง 29 basis points ในระยะเวลา 5 นาทีมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 4 เดือนที่ร้อยละ 1.873 เป็นไปทิศทางเดียวกับดัชนีดาวน์โจนส์ ที่ปรับลดลงร้อยละ -1.06 เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 16,141.74 จุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ในวันดังกล่าวที่ปรับตัวลดลงมากเกิดจากเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ภาคการบริโภคภาคเอกชนในประเทศส่งสัญญาณในทิศทางที่ต่างจากการคาดการณ์ของตลาด กล่าวคือ ยอดค้าปลีกและยอดขายรถยนต์ เดือน ก.ย. 57 กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ร้อยละ -0.3 และร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ตามลำดับ ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าอุปสงค์ในประเทศซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven) ซึ่งในขณะนี้ตลาดคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ และช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ของโลก อาทิ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ ซึ่งบ่งชี้เสถียรภาพภายในประเทศของสหรัฐฯ ประกอบกับเป็นเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในระยะยาวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 57 ที่ลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี 2 เดือนที่ร้อยละ 5.9 ของกำลังแรงงานรวม และการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือนเดียวกันเพิ่มขึ้น 248,000 ตำแหน่ง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ