รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 3, 2014 11:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. ประจินกล่อมต่อประสาน BMCL ตรึงราคาโดยสารยาวถึงหลังปีใหม่

2. ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ

3. ญี่ปุ่นช็อคตลาด ออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม

1. ประจินกล่อมต่อประสาน BMCL ตรึงราคาโดยสารยาวถึงหลังปีใหม่
  • พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมได้ร่วมกันจัดแผนงานด้านการบริการ รวม 64 กิจกรรม เพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ 58 ที่จะมาถึง ซึ่งครอบคลุมการขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยบางกิจกรรมจะเริ่มได้ตั้งแต่เทศกาลลอยกระทงเป็นต้นไป ในส่วนรถไฟฟ้าใต้ดิน เดิมการตรึงราคาค่าโดยสารจะต้องปรับขึ้น ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 57 แต่ได้ตรึงค่าโดยสารไปจนถึงวันที่ 1 ม.ค. 58 ล่าสุดได้มีการประสานกับผู้รับสัมปทานบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เพื่อช่วยลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ออกไปอีก 3 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.6 สะท้อนถึงเสถียรภาพของประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการตรึงราคาของภาครัฐและทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง โดยแผนงานด้านการบริการของกระทรวงคมนาคมถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการของรัฐที่จะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น โดยจะส่งผลกระทบทางตรงต่อราคาในหมวดยานพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักปีฐาน 54 ที่ร้อยละ 25.5 ของตะกร้าเงินเฟ้อ สำหรับการตรึงราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT 1 บาทต่อระยะ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ 0.0003 นอกจากนี้ สศค. ยังคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 และ 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 และ 2.2 ตามลำดับ
2. ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ
  • ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยล่าสุดในไตรมาส 3 ปี 57 มีแนวโน้มฟื้นตัวค่อนข้างช้าและไม่ชัดเจนในทุกภาคส่วน โดยอุปสงค์ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังไม่เต็มที่ เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังมีการฉุดรั้งจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนยังทำได้ค่อนข้างน้อยแม้จะมีการเร่งขึ้นในช่วงปลายไตรมาส เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐยังทำได้ช้า ซึ่งธปท. คาดหวังว่าการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีจะดีขึ้น ทั้งนี้ ธปท.จะมีการปรับประมาณการจีดีพีใหม่ในวันที่ 26 ธ.ค. 57 จากที่คาดว่า GDP ปี 57 โตร้อยละ 1.5 ส่วนปี 58 โตร้อยละ 4.8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 57 เศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย และจะส่งให้เศรษฐกิจในปี 57 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.2- 1.7 สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 58 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 - 4.6) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น
3.ญี่ปุ่นช็อคตลาด ออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยในวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางฯ มีมติคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 เห็นชอบให้เพิ่มเป้าหมาย การขยายฐานปริมาณเงินในปีนี้จากเดิมที่ระดับ 60-70 ล้านล้านเยน เพิ่มเป็น 80 ล้านล้านเยน ด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มเติม ทั้งนี้ สาเหตุของการเพิ่มขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาจากแนวโน้มที่ญี่ปุ่นจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ได้ภายใน 2 ปีตามที่เคยตั้งเป้าไว้ จากผลกระทบของการขึ้นภาษีในช่วงเดือน เม.ย. 57 และราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวถือได้ว่ามีความเหมาะสมที่ออกมาในช่วงเวลานี้ เนื่องจาก เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นหลายตัวในเดือนล่าสุดได้ส่งสัญญาณ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินเฟ้อในเดือน ก.ย. ที่ชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเดือนเดียวกันก็หดตัวที่ร้อยละ 5.6 ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.5 ในเดือน ส.ค. การออกมาตรการดังกล่าวจึงได้รับการตอบสนองจากตลาดเป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองเชิงบวก ต่อผลกระทบของมาตรการที่จะมีต่อเศรษฐกิจ โดยดัชนีนิคเคอิ 225 ได้ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีภายหลังจากมีการประกาศมาตรการ และค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงทันทีที่ ร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ ก่อนมีการประกาศมาตรการ สศค. ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้จะเติบโตที่ร้อยละ 1.3 และจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.0 ในปีหน้า แต่การประกาศมาตรการกระตุ้นทางการเงินเพิ่มเติมอาจทำให้อัตราการเติบโตปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในปีหน้า อย่างไรก็ดี สศค. จะทำการติดตามเครื่องชี้ภาคเศรษฐกิจจริงเพื่อยืนยันผลลัพธ์ของมาตรการดังกล่าวต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ