รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 19, 2014 11:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2557

Summary:

1. ตลท. ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันเป็นร้อยละ 50.0 ภายใน 5 ปี

2. ผลการประชุม FOMC กระตุ้นตลาดเอเชียและแปซิฟิก

3. ราคาบ้านใหม่จีน เดือน พ.ย. 57 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 3.7 จากปีก่อน

1. ตลท. ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันเป็นร้อยละ 50.0 ภายใน 5 ปี
  • ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท. ตั้งเป้าภายในปี 5 ปี (58 - 62) จะเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันเป็นครึ่งหนึ่งของตลาด เพื่อเป็นการเพิ่มสมดุลให้กับตลาดทุนไทย และเพิ่มเสถียรภาพเพื่อลดความผันผวนของตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ พบว่าปัจจุบันนักลงทุนสถาบันมีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในกองทุนหุ้นเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปี - 12 ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30.7 ซึ่งหลังจากนี้ ตลท.จะร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุนและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เพื่อนำเสนอข้อมูลและให้ความรู้ความใจเกี่ยวกับกองทุนรวมมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่องทางในการออมที่มีผลตอบแทนสูง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สัดส่วนของนักลงทุนสถาบันในตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (55 - 57) นักลงทุนสถาบันในประเทศรวมกับบัญชีบริษัทหลักทรัพย์มีสัดส่วนในตลาดเฉลี่ยร้อยละ 20.8 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับนักลงทุนต่างชาติ (ร้อยละ 23.3) แต่ยังคงนับว่ามีสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศที่มีสัดส่วนเฉลี่ยถึงร้อยละ 55.9 ของมูลค่าการซื้อขายรวม ทั้งนี้ หากสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันเพิ่มสูงมากขึ้นในระดับใกล้คียงกับนักลงทุนรายย่อย ย่อมเป็นการสร้างเสถียรภาพต่อตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากการตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์ของนักลงทุนสถาบันจะมีความอ่อนไหวในระดับที่ต่ำกว่านักลงทุนรายย่อย อีกทั้งจะช่วยลดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากนักลงทุนต่างชาติที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึงเกือบ 1 ใน 4 ของตลาดได้ด้วย
2. ผลการประชุม FOMC กระตุ้นตลาดเอเชียและแปซิฟิก
  • ในวันที่ 18 ธ.ค. 57 ตลาดหุ้นเอเชียและออสเตรเลียต่างปรับตัวดีขึ้น หลัง FOMC ประกาศคงเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0- 0.25 ต่อไป และจะยังคงไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยดัชนีนิคเคอิของญี่ปุ่นปิดบวกร้อยละ 2.32 ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงปิดบวกร้อยละ 1.1 ดัชนี S&P/ASX 200 ของออสเตรเลียปิดบวกร้อยละ 0.95 และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับขึ้นเหนือระดับ 1,500 จุด และเมื่อปิดตลาดปิดบวกร้อยละ 2.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่สหรัฐฯ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำจะช่วยลดแรงกดดันในตลาดต่างๆ ที่มีแรงตึงเครียดจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำ การอ่อนค่าของเงินรูเบิลรัสเซีย ตลอดจนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในกรีซ โดยน่าจะทำให้นักลงทุนมีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่เริ่มแข็งค่ามาตั้งแต่ก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ จะประกาศยุติมาตรการ QE ในเดือน ต.ค. 57 อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยบวกดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยบวกระยะสั้น โดยตลาดหลักทรัพย์ทั่วดลกยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและมีความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยพื้นฐานตลอดจนความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตรืต่างๆ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า FOMC จะยังไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนกลางปี 58
3. ราคาบ้านใหม่จีน เดือน พ.ย. 57 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ -3.7 จากปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานราคาบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 57 หดตัวที่ร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ -2.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นอัตราสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาบ้านใน 68 เมือง จาก 70 เมือง หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาบ้านใหม่จีน เดือน พ.ย. 57 ที่หดตัวร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวในอัตราเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ราคาบ้านในเมืองใหญ่ เช่น กวางโจว เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และเสินเจิ้น หดตัวในอัตราสูงเป็นประวัติการณ์ ที่ร้อยละ -3.8 -2.9 -2.0 และ -2.0 ตามลำดับ สะท้อนภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยังคงซบเซาและเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ โดยแม้ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นยอดขายและราคาอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เช่น การผ่อนปรนกฎเกณฑ์การกู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ใน เดือน ต.ค. 57 และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใน เดือน พ.ย. 57 ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ส่งผลบวกที่ชัดเจนต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน อีกทั้งปริมาณอุปทานของอสังหาริมทรัพย์ในตลาดยังคงสูงกว่าอุปสงค์ ดังนั้น คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 58 เป็นอย่างน้อย

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ