รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 12, 2015 11:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 มีนาคม 2558

Summary:

1. กนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.75 ต่อปี

2. รมว.พาณิชย์ เผยจีนลงนาม MOU ซื้อขายข้าว 2 ล้านตัน และยางพารา 2 แสนตัน จากไทย

3. "อลิอันซ์" คาดศก.โลกปี 58 ขยายตัวต่อเนื่อง ชี้ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียร้อยละ 6.25 ต่อปี

1. กนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.75 ต่อปี
  • เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 11 มี.ค.58 ว่าคณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 3 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี ของ กนง. ถือเป็นการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยจากข้อมูลล่าสุดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/57 และเดือน ม.ค. 58 ยังคงฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน้อยกว่าที่คาดการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ลดลง ทั้งนี้ จากการปรับลดของราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงและติดลบตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เป็นบวก อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ตามที่คาด แต่ยังคงมีความเสี่ยงด้านการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีน ในขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนในด้านอุปสงค์ของประเทศได้ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 58 ว่า ในปี 58 อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะยังคงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี
2. รมว.พาณิชย์ เผยจีนลงนาม MOU ซื้อขายข้าว 2 ล้านตัน และยางพารา 2 แสนตัน จากไทย
  • พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ แถลงพร้อมกับรองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หลังจากการหารือเพื่อกำหนดแผนงานการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีน โดยมีสาระสำคัญของ MOU คือ รัฐบาลจีนจะรับซื้อข้าวจากไทย 2 ล้านตัน เป็นข้าวใหม่ 1 ล้านตันและข้าวในสต็อกอีก 1 ล้านตัน ซึ่งจะรับซื้อระหว่างปี 58-59 นอกจากนี้ จีนยังตกลงในหลักการที่จะรับซื้อยางพาราจากไทย จำนวน 2 แสนตันในช่วงระยะเวลาการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของไทย รวมทั้งจีนจะขยายมูลค่าการซื้อข้าวตลอดจนสินค้าเกษตรอื่นกับไทยเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ซึ่งหากพิจารณาในรายสินค้าส่งออกของไทย จะพบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดจีน และเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่สำคัญต่อภาพรวมการส่งออกของไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในปี 57 สัดส่วนการส่งออกของไทยไปจีนอยู่ที่ร้อยละ 11.0 ลดลงเล็กน้อยจากปี 56 ที่มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 11.9 และจากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค. 58 พบว่า การส่งออกของไทยหดตัวร้อยละ -3.5 โดยการส่งออกที่หดตัวมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกไปยังประเทศจีนที่หดตัวร้อยละ -19.7 โดยเฉพาะการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวร้อยละ 13.0 -ต่อปี จากยางพารา และข้าว ที่หดตัวร้อยละ 40.6 -ต่อปี และ 13.0 -ต่อปี ดังนั้น ผลจาก MOU ฉบับนี้จึงส่งสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปตลาดจีน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 58 ว่าการส่งออกรวมที่แท้จริงของไทย ในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 4.4 - 6.4) และมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี(โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -0.6 - 3.4
3. "อลิอันซ์" คาดศก.โลกปี 58 ขยายตัวต่อเนื่อง ชี้ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียร้อยละ 6.25 ต่อปี
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอลิอันซ์ ระบุเศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกด้านราคาน้ำมันที่ลดลงรุนแรงในรอบหลายปี ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น กอปรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั้งการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ของภาครัฐและเอกชนก่อให้เกิดการสร้างงาน ทำให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น ขณะเดียวกันตลาดเกิดใหม่ในเอเชียยังได้รับอานิสงส์จากภาวะดอกเบี้ยต่ำในสหรัฐที่ดำเนินมาหลายปี ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดการเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะไทยและอินเดียมีโอกาสขยายตัวสูง ทั้งนี้ ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียโดยรวมมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 6.25 ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2558 ยังฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง มีเพียงประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ ที่กลับมาขยายตัวได้ดี ขณะที่เศรษฐกิจจีน แม้ว่าจะมีขนาดการเติบโตที่ลดลงแต่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าโดยรวมจะดีขึ้นกว่าปีก่อนจากภาคการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว กอปรกับราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นปัจจัยบวกด้านต้นทุนที่ลดลง ทั้งนี้ ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ เศรษฐกิจญี่ปุ่นและยูโรโซนที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา จากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 58 ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าหลักของไทย (คิดเป็น 76.4 ของตลาดส่งออกทั้งหมด) ในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี โดยมาจาก เศรษฐกิจ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ยูโรโซนที่จะเติบโตที่ร้อยละ 2.8 7.2 0.9 และ 1.1 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจอาเซียน-5 มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ จะขยายตัวร้อยละ 5.2 3.2 5.6 5.7 และ 6.5 ตามลำดับ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ