รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 7 สิงหาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 11, 2020 14:23 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 63 ลดลงร้อยละ -0.98 ต่อปี ขณะที่อัตรา เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นที่ร้อยละ 0.39 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 63 หดตัวร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน ก.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.6
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มิ.ย. 63 ขาดดุล -246.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -17.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 44.8 ของ GDP
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ค. ปีงบประมาณ 63 ขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อปี ขณะที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนพ.ค. ปีงบประมาณ 63 หดตัวร้อยละ -32.8 ต่อปี ส่งผลให้ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ค. ปีงบประมาณ 63 ขาดดุลจำนวน 52,758 ล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ค. 63 หดตัว ณ ระดับราคาคงที่ที่ร้อยละ -16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน พ.ค.63 หดตัวร้อยละ -13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: This Week
          อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 63 ลดลงร้อยละ  -0.98 ต่อปี ลดลงกว่าเดือนที่ผ่านมาที่ลดลงร้อยละ -1.57 โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหารสด แม้จะยังลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ลดลงในอัตราที่ชะลอลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังลดลงร้อยละ -16.09 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่สูงขึ้นร้อยละ 1.69 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าผักและผลไม้ลดลงร้อยละ -5.06 ขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับผลผลิตและความต้องการ และเมื่อหักราคาอาหารสดและพลังงานออกแล้วอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นที่ร้อยละ 0.39 ต่อปี ซึ่ง            ส่งสัญญาณถึงการบริโภคและกำลังซื้อภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 63 หดตัวร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ร้อยละ -8.6 ต่อปี จากความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กภายในประเทศที่หดตัว รวมทั้งหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ที่ปรับลดลงร้อยละ -1.9 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หมวดซีเมนต์ ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี เนื่องจากภาวะการก่อสร้างเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจด้านก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา แต่การคลายล็อกดาวน์ให้หลายธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์จากกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติมีโอกาสฟื้นตัวช่วงปลายปี ขณะที่มาตรการภาครัฐ และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้วงเงิน 4 แสนล้าน น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม และผลักดันให้ภาคการก่อสร้างฟื้นตัวในระยะถัดไป

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนก.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 31.4 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมาจ่ายใช้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีการจัดงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ที่มียอดจองรถจักรยานยนต์เกินกว่าเป้าหมายของแต่ละบริษัทที่ตั้งไว้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ตัวเลขในเดือนถัดไปสามารถกลับมาฟื้นตัวได้

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน ก.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 41.4 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 42.6 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 หลังรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 ให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ประกอบกับรัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลสูงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคตที่อาจเกิดจากผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มิ.ย. 63 ขาดดุล -246.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 63.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลที่ -2,319.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 2,319.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 เกินดุลรวม 8,080.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 63 มียอดคงค้าง 18.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลง ในขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 3.6 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 63 มียอดคงค้าง 22.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 11.0 และเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -17.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการหดตัวดัชนีฯ ในเดือน มิ.ย. 63 มาจากการหดตัวของหมวดยานยนต์ เครื่องประดับและอุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องหนังที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -57.3 -44.1 และ -38.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ พัดลม ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มิ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า ขยายตัวร้อยละ 5.0 โดยมีปัจจัยมาจากเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมหดตัว ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ที่หดตัวร้อยละ -38.3 และ -29.1 ต่อปีตามลำดับ ตามการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมจากผลของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นตามลำดับจาการก่อสร้างภาครัฐจากการเร่งเบิกจ่าย

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,433,103 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.8 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 91,293 ล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 88.7 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 98.1 ของยอดหนี้สาธารณะ

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ค. ปีงบประมาณ 63 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 186,625 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 8.6 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 63.8 โดย (1) รายจ่ายปีปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ 176,887 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ 9.6 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 63.8 ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 145,323 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 72.5 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 31,564 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 25.9 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 9,738 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -6.6 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 63.1 ต่อปี

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.)ในเดือน พ.ค. ปีงบประมาณ 63 ได้จำนวน 199,601 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -32.8 ต่อปี โดยมาจาก(1) รายได้จาก 3 กรมภาษีหดตัวร้อยละ -31.4 ต่อปี และ(2) รายได้จากหน่วยงานอื่นหดตัวร้อยละ -30.5 ต่อปี ทั้งนี้ เป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีต่างๆ ออกไปเป็นสำคัญ

          ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด        ในเดือน พ.ค. ปีงบประมาณ 63 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -52,758 ล้านบาททั้งนี้ และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 41,547 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -11,211 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล และทำให้ดุลเงินสดหลังกู้เกินดุลอยู่ที่ 113,211 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ 265,565      ล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ค. 63 หดตัว ณ ระดับราคาคงที่ที่ร้อยละ -16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 23.5 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.6 เนื่องจากมีมาตรการขยายเวลาการยื่นแบบและชำระภาษี ทำให้มีบางส่วนที่ต้องจ่ายในเดือนเมษายน เหลื่อมมาจ่ายเดือนพฤษภาคมขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องที่ ร้อยละ -39.1 ซึ่งสอดคล้องกับอากรขาเข้าในเดือน พ.ค. 63 ที่หดตัวร้อยละ -30.2

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพ.ค.63 หดตัวร้อยละ -13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล จากการหดตัวในทุกหมวดการจัดเก็บภาษี ตามสภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากผลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์การระบาดที่ดีขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการต่อได้ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 54.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด จากดัชนีทุกหมวดที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นดัชนีหมวดการส่งมอบของ และสินค้าคงเหลือที่ลดลง ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ (ISM) เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 58.1 จุด สูงสุดในรอบกว่า 17 เดือน โดยที่ดัชนีฯ ในหมวดกิจกรรมทางธุรกิจ และคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -24.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -13.4 หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

China: mixed signal

ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (Caixin) เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด ในขณะที่ PMI ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 54.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 58.4 จุด มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ เดือน ก.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อียู และฮ่องกงขยายตัว มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -1.0 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Japan: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 (final) หดตัวที่ร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไปก่อน โดยมีปัจจัยจากการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนเกือบครึ่งของเศรษฐกิจ ที่หดตัวถึงร้อยละ -3.0 ต่อปี ประกอบกับการส่งออกที่หดตัวส่งผลต่อการขยายตัวของ GDP ที่หดตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2011

EU: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.1 จุด จากคำสั่งซื้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 54.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.3 จุด จากธุรกิจต่างๆที่เริ่มกลับมาเปิดดำเนินการ ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวเดือนแรกในรอบ 3 เดือน

South Korea: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.9 จากระดับ 43.4 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่มีการปรับลดติดต่อกัน อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับร้อยละ -0.2 ต่อปี

Hong Kong: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 44.5 จุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 49.6 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงเศรษฐกิจภาคการผลิตที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.2 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.8

India: mixed signal

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 46.0 จากระดับ 47.2 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์การแพร่ระบาด COVID-19 จึงทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนยังปิดกิจการ รวมถึงอุปสงค์ที่น้อยลง ส่งผลให้ดัชนีภาคอุตสาหกรรม ปรับลดลง ขณะที่ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 34.2 จากระดับ 33.7 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าดัชนีฯ ลดลงมาจากคำสั่งซื้อภาคส่งออกปรับตัวลดลงมากที่สุด นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

UK: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ 53.3 จุด สูงที่สุดนับแต่เดือน มี.ค. 62 โดย เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ 50.1 จุด ขณะที่ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ เดือน ก.ค. 63 ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.5 จุด สูงที่สุดนับแต่เดือน ก.ค. 58 จากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 มีจำนวนธุรกิจเปิดใหม่เพิ่มมากขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงไว้ที่ร้อยละ 0.1 ตามการคาดการณ์ของตลาด

Australia: mixed signal

ดุลการค้าเดือน มิ.ย. 63 เกินดุลอยู่ที่ 8.20 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งเกินดุลที่ 7.34 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากการที่รัฐทุ่มงบประมาณเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูประเทศจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ออสเตรเลียมีดุลการค้าเกินดุลถึง 42.63 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 62 ดุลการค้าเกินดุลพียง 32.99 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์

Malaysia: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.0 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ อัตราว่างงาน เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Singapore: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 45.6 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -27.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -52

Philippines: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -16.5 จากช่วงเดียวกันปี และหดตัวร้อยละ -15.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 48.4 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -22.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -31.2 มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -13.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -26.9 หรือมูลค่า 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -24.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -40.9 หรือมูลค่า 3.59 หมื่นล้านดอลลาร์สรอ. ทำให้ขาดดุลอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สรอ.

Indonesia: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวร้อยละ -4.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.54 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 46.9 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Vietnam: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 47.6 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.1

Weekly Financial Indicators
          ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย โดยเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,333.22 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 3 - 6 ส.ค. 63 ที่ 56,317 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 3 - 6 ส.ค. 63        นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ จำนวน 3,341 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0 - 1 bps นอกจากนั้น เกือบทุกช่วงอายุปรับตัวลดลงในช่วง -3 ถึง -6 bps โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 182 วัน ซึ่งมี นักลงทุนสนใจ 3.35 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 3 - 6 ส.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก ตลาดพันธบัตรสุทธิ มูลค่า 3,036.71 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 6 ส.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.10 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้น ร้อยละ 0.76 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ