ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 28, 2022 12:16 —กระทรวงการคลัง

?เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค

โดยเฉพาะ ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว

และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและอุตสาหกรรม?

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษา

ด้านเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจ

การคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม 2564 ว่า ?เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันตกและภาคตะวันออก

ที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและอุตสาหกรรม?

โดยมีรายละเอียดดังนี้

เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกร ขยายตัวร้อยละ 5.2 19.4 และ 31.1

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลงร้อยละ -13.5

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.2 ด้วยจำนวนเงินทุน 0.8 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตภาชนะ

บรรจุอาหารจากกระดาษทุกชนิด กำลังการผลิต 4.138 ตัน/ปี ในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน

ของปีก่อนร้อยละ 4.9 และ 30.0 ตามลำดับ ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวน

ผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 29.0 และ 7.3 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้

ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 45.3

และ 86.5 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.1 และ 85.4 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชน

และ การท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 63.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่

และรายได้เกษตรกร แม้ว่าชะลอตัวลงร้อยละ -14.9 และ -27.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว

เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 2.6 และ 2.0 ตามลำดับ สำหรับจำนวนรถจักรยานยนต์

จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ต่อปี แต่ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ร้อยละ -2.9 สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล

จดทะเบียนใหม่ที่แม้ว่าจะชะลอลงร้อยละ -10.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.5

แต่ชะลอลงร้อยละ -4.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านอุปทาน

มีสัญญาณฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.9 ในขณะที่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนจะชะลอตัวลดลงร้อยละ -12.1 ต่อปี แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

หลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 25.4 นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

และภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.1 และ 107.4 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.8

และ 106.4 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะจากการลงทุนภาคเอกชน

และการท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 4.2 และ 18.4 ตามลำดับ ด้านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อปี แต่ชะลอลงร้อยละ -21.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ในขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกร แม้ว่าชะลอตัวลงร้อยละ -1.5 และ -3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

หลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 4.9 และ 8.1 ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 105.0 ด้วยจำนวนเงินทุน 1.9 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป เช่น เครื่องแกงสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ ในขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ แม้ว่าชะลอตัวลงร้อยละ -8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 2.5 ส่วนจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 15.7 และ 3.4 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

และภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 45.3 และ 86.5 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 44.1 และ 85.4 ตามลำดับ

เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 16.7 0.4 และ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่รายได้เกษตรกร แม้ว่าชะลอตัวลงร้อยละ -6.7

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 8.9 สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 14.6 ต่อปี จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี แต่ชะลอลงร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับ

เดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ในขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัวลงด้านอุปทาน

มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.1 ในขณะที่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชะลอลงร้อยละ -11.5 ต่อปี แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 109.2 นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 44.8 และ 86.5 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 43.5 และ 85.4 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการลงทุนภาคเอกชน

และการท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์

จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกร ขยายตัวร้อยละ 9.6 และ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -9.9 อย่างไรก็ดี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ยังชะลอลง สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 62.7 ด้วยจำนวนเงินทุน 2.6 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะชุมชน ขนาดกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ ในจังหวัดตาก เป็นสำคัญ สำหรับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.1 ในขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ แม้ว่าชะลอตัวลงร้อยละ -13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

หลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 7.5 ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 ในขณะที่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชะลอตัวลดลงร้อยละ -14.5 ต่อปี แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 31.2 นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 48.9 และ 64.8 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.7 และ 63.7 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนธันวาคม 2564 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว รวมทั้ง

ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์

จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 31.3 และ 21.4 ตามลำดับ ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกร ขยายตัวร้อยละ 14.9 และ 11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -7.4 และ -3.3 ตามลำดับ สำหรับ แม้ว่าจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลงร้อยละ -5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 15.1 สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 12.6 และ 21.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการแม้ว่าจะชะลอตัวลงร้อยละ -82.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 219.4 ด้วยจำนวนเงินทุน 0.5 พันล้านบาท จากโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร เพื่อทำการผลิต

ชิ้นไม้สับจากไม้ยางพาราและไม้อื่นๆ ที่กำหนด ในจังหวัดสงขลา เป็นสำคัญ สำหรับจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 15.2 ต่อปี แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -4.5

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยแม้ว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนจะชะลอตัวลดลงร้อยละ -6.3 ต่อปี แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 93.5 ขณะที่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 51.3 และ 67.9 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.3 และ 83.0 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.1 และ 82.5 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนธันวาคม 2564 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์

จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกร ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.4 และ 11.7 ตามลำดับ ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลง สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการแม้ว่าจะชะลอตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -1.0 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 7.9 ด้วยจำนวนเงินทุน 1.6 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ในจังหวัดศรีสะเกษ เป็นสำคัญ สำหรับจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ยังชะลอตัวลง ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยแม้ว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จาก

ผู้เยี่ยมเยือนจะชะลอตัวลดลงร้อยละ -13.3 และ -26.4 ต่อปี ตามลำดับ แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 37.4 และ 52.6 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

และภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 50.2 และ 78.4 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.9 และ 77.3 ตามลำดับ

ที่มา: กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ