บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง วิกฤต “เฝอ”และผลกระทบต่อ่อเศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 17, 2008 14:56 —กระทรวงการคลัง

          ธนาคารกลางของเวียดนามได้ประกาศปรับลดค่าเงินดองลงร้อยละ 1.96 และขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงร้อยละ 2 จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 14 ในวันที่ 10 มิ.ย. 2551 เพื่อแก้ปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลในระดับสูง และลดปัญหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไป (Overheating economy)
ปัญหาเศรษฐกิจในเวียดนามเกิดจาก (1) เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเร็วเกินไปในขณะที่เวียดนามเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด (Small-open Economy) จึงจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าในระดับสูง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามขาดดุลเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว (2) ปัญหาเงินเฟ้อสูงจากภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น(Cost-push Inflation) ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาอาหารที่พุ่งขึ้นมาก และภาวะความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น (Demand-pull Inflation) (3) นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว ขณะที่มีเงินทุนไหลเข้าในปริมาณสูง ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตรา รวมถึงปริมาณเงินในระบบมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในเวียดนามพุ่งสูงขึ้น (4)เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในขณะที่ค่าเงินยังคงผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของค่าเงินดองสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (5) การที่เวียดนามขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขาดดุลบัญชีเดินสะพัด นำไปสู่สภาวะการขาดดุลบัญชีแฝด (Twin Deficit) และทำให้ระดับการออมของประเทศลดลง อันเป็นสัญญาณอันตรายต่อภาวะวิกฤต และ (6) เวียดนามเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ในรูปของการลงทุนด้านการเงิน (Portfolio Flow) สูงมาก นำไปสู่สถานการณ์การลงทุนที่มากเกินไป (Over-investment) โดยเฉพาะการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ และนำไปสู่การลงทุนในภาคที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต (Non-Productive Sector) นำไปสู่ภาวะฟองสบู่และวิกฤตการณ์การเงินในที่สุด
ภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อไทยผ่าน 4 ช่องทาง คือ (1) ช่องทางการค้า ทำให้การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามลดลง ขณะที่การนำเข้ามากขึ้นจากค่าเงินดองที่อ่อนค่าลง ทำให้การเกินดุลการค้าของไทยต่อเวียดนามลดลง (2)ช่องทางการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ (3) ช่องทางการเงินระหว่างประเทศ และ(4) ช่องทางการเก็งกำไรค่าเงินในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่าภาคการเงินไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงนัก เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่าปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวียดนามยังไม่สิ้นสุด เพราะเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจจะมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวในระดับสูงตามราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารที่สูงขึ้นมาก ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบของวิกฤตการณ์ของเวียดนามสู่ไทย ทางการไทยควรจะ (1) วางมาตรการเพื่อสนับสนุนการกระจายตลาดส่งออกให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการพึ่งพาเศรษฐกิจภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง (2) หน่วยงานรัฐควรเฝ้าระวังติดตามการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่ไหลเข้าหรือออกจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการป้องกันการเก็งกำไรจากนักลงทุนต่างชาติและธนาคารแห่งประเทศไทยควรดูแลติดตามค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป (4) ใช้มาตรการการคลังและการเงินเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีการพึ่งพาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการส่งออกน้อยลง และหันมาพึ่งพาการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น และ (5) ในระยะยาวรัฐบาลควรใช้นโยบายสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ (Productivity) เพื่อไม่ให้ประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเวียดนาม
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ