อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ร้อยละ 6.1 หรือ 9.4 ล้านคน ในเดือนสิงหาคม 2551 เปรียบเทียบกับอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 4.1 หรือ 7.2 ล้านคนในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และร้อยละ 5.7 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคมที่ระดับร้อยละ 6.1 นั้น ทะยานขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.8 นั้น ได้สร้างความกังวลให้กับนักวิเคราะห์และนักลงทุนถึงผลกระทบจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ และวิกฤติตลาดเงินที่อาจส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 7 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
จำนวนการจ้างงานในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาลดลง 84,000 ตำแหน่ง โดยการจ้างงานในภาคอุตสาหรรมลดลงถึง 61,000 ตำแหน่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์สินค้าภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์และชิ้นส่วนรถยนต์ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ในขณะที่การจ้างงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างลดลงเพียง8,000 ตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่สหรัฐฯ ประสบวิกฤติอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมาส่วนกลุ่มค้าปลีกมีการจ้างงานลดลง 20,000 ตำแหน่ง บริการทางธุรกิจ ลดลง 53,000 ตำแหน่งธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ลดลง 4,000 ตำแหน่ง ในขณะที่อุตสาหกรรมการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และภาครัฐ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยในปี 2551 จำนวนการจ้างงานในสหรัฐฯ โดยรวมลดลงถึง 605,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ0.4 จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 18.14 เหรียญ สรอ. ในเดือนสิงหาคม โดยในช่วงปีที่ผ่านมา(กรกฎาคม 2550 — กรกฎาคม 2551) รายได้ประชากรปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่ารายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่สามารถชดเชยกับการทะยานขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน
กล่าวโดยสรุปแล้ว จะเห็นว่าผลของวิกฤติตลาดการเงิน อุปสงค์ที่ลดลงทั่วโลกและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ยังคงเป็นแรงกดดันในทางลบ
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th