รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 14:46 —กระทรวงการคลัง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัวลง โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีการหดตัวมาก ในด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศนั้น แม้ว่าการส่งออกโดยรวมในไตรมาส 1 ปี 2552 จะหดตัวอันเป็นผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่การส่งออกในบางกลุ่มสินค้าเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นในเดือนมีนาคม 2552 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากการฟื้นตัวของตลาดตะวันออกกลาง จีน และแอฟริกา ขณะที่การนำเข้าที่ลดลงมากจากอุปสงค์ภายในประเทศที่หดตัวรุนแรงกว่า ทำให้การส่งออกสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2552 ปรับตัวดีขึ้น สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่มีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนถึงเสถียรภาพภายนอกที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 พบว่า รายจ่ายรัฐบาลประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2552 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 567.4 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 41.1 ต่อปี โดยเป็นการเบิกจ่ายของงบประจำจำนวน 423.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.7 ต่อปี ซึ่งรายจ่ายประจำที่ขยายตัวในระดับสูงส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มมีการเบิกจ่ายใน เดือนมีนาคม 2552 โดยเฉพาะมาตรการเพิ่มรายได้เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือมาตรการเช็คช่วยชาติที่มีการเบิกจ่ายในเดือนมีนาคม 2552 จำนวน 16.2 พันล้านบาท และมาตรการการเรียนฟรีที่มีการเบิกจ่าย 14.0 พันล้านบาท ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 100.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นในระดับสูงที่ร้อยละ 30.4 ต่อปี ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณที่ขยายตัวได้ในระดับสูง ขณะที่การจัดเก็บรายได้ลดลงนั้นสะท้อนถึงบทบาทของการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนหดตัวลง สำหรับรายได้รัฐบาล สุทธิประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2552 จัดเก็บได้สุทธิ 283.7 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -8.1 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จัดเก็บได้ลดลง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงมาก ทั้งนี้ภาษีฐานรายได้และ ภาษีฐานการบริโภคหดตัวที่ร้อยละ -2.7 ต่อปี และร้อยละ -20.7 ต่อปี ตามลำดับ

2. การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวลง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในไตรมาสที่ 1 หดตัวรุนแรงที่ร้อยละ -19.2 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัวระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี สะท้อนภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัวลงอย่างชัดเจน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -18.1 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัวลงที่ร้อยละ -17.4 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในส่วนภูมิภาค เช่น ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -16.4 ต่อปี เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวลดลงจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ -4.7 ต่อปี และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ในส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่ามาตรการเพิ่มรายได้เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือมาตรการเช็คช่วยชาติที่เริ่มมีการแจกจ่ายสู่สาธารณชนตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 นั้นน่าจะส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

3. การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวลงเช่นกัน โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ร้อยละ -23.0 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์ เชิงพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -41.2 ต่อปี หดตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเครื่องชี้การลงทุนในหมวดการก่อสร้าง ที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อปี ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.1 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และการที่ประชาชนเร่งทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ก่อนจะมีการขยายเวลาของมาตรการลดหย่อนภาษี ธุรกิจเฉพาะและค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์

4. การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 33.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -20.6 ต่อปี ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่หดตัวลง ที่ร้อยละ -10.6 ต่อปี โดยปริมาณการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -20.1 ต่อปี ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่หดตัวเพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่การส่งออกในบางกลุ่มสินค้า เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นในเดือนมีนาคม 2552 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากการฟื้นตัวของตลาดตะวันออกกลาง จีน และแอฟริกาด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐไตรมาสที่ 1 ปี 2552 อยู่ที่ 26.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -37.6 ต่อปี โดยปริมาณนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -34.3 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี อันเป็น ผลจากมูลค่าการนำเข้าหดตัวในทุกหมวด ทั้งสินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเชื้อเพลิง สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการผลิตและความต้องการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัวลง ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เกินดุลสูงสุด ในรอบ 3 ปี ที่ 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. สำหรับเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2552 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีการหดตัวลงมาก และภาคบริการจากการท่องเที่ยวมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ ภาคการเกษตรขยายตัวเล็กน้อย โดยเครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมวัดจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวลงถึงร้อยละ -22.1 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ลดลงมาก ขณะที่อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดทั้งในและต่างประเทศ ปรับตัวลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตเพื่อการส่งออกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นในเดือนมีนาคม 2552 ด้านภาคบริการจากการท่องเที่ยวหดตัวลงต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 3.7 ล้านคน หดตัวลงร้อยละ -14.7 ต่อปี จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยวิกฤตเศรษฐกิจโลกและปัจจัยด้านการเมือง ด้านเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี เนื่องจาก การขยายตัวของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ที่ขยายตัวในระดับสูงมากเนื่องจากราคาที่สูงในปีก่อนหน้า จูงใจให้เกษตรกรเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ในช่วงไตรมาสที่ 1 อย่างไรก็ตาม ภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงร้อยละ -4.7 ต่อปี ทำให้รายได้ ของเกษตรกรโดยรวมลดลง

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวร้อยละ -0.3 ต่อปี หดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวลงเนื่องจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่ปรับตัวลดลงมาก สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ร้อยละ 39.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของปีงบประมาณ 2552 แต่ยังถือว่าต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ค่อนข้างมาก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2552 อยู่ในระดับสูง ที่ 116.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 4 เท่า อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ