รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 23, 2009 11:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1. ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้เศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุด แต่ยังไม่ฟื้นตัว

2. ตลท.เห็นด้วยกับการปลดเพดานสิทธิประโยชน์ภาษี BOI หากธุรกิจเข้า ตลท.

3. ผู้ว่าฯ ธ.กลางยุโรปไม่เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

HIGHLIGHT:
1. ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้เศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุด แต่ยังไม่ฟื้นตัว
  • ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าธปท. เผยว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ถึงจุดต่ำสุด แต่ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าฟื้นตัวโดยเป็นการสอบถามข้อมูลจากภาคธุรกิจซึ่งต้องดูจากตัวเลขจริง ณ เดือน ก.ค. ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกถือว่าได้ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 51 ที่ผ่านมาตลาดการเงินของโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติค่อนข้างมาก ในขณะที่ตลาดทุน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นและภาคการผลิตโดยรวมเริ่มดีขึ้น แต่ปัญหาการจ้างงานยังมีอยู่ ถือได้ว่าโดยรวมดีขึ้น ติดลบน้อยลงเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน ส่วนภูมิภาคเอเซียการส่งออกยังติดลบในอัตราที่ลดลง ในขณะที่ทางธปท.ได้รองรับสถานการณ์ด้านการเงินไว้แล้วจากบทเรียนวิกฤติปี 40
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 52 GDP หดตัวลงถึงร้อยละ -7.1 ต่อปี และเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวในไตรมาส 2 สะท้อนได้จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือน เม.ย. และ พ.ค. 52 พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -12.8 และ -12.4 ต่อปี (ตัวเลขเบื้องต้น) ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกมีการหดตัวที่ร้อยละ -26.1 และ -26.6 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 52 อีกครั้งในวันที่ 25 มิ.ย. 52 นี้
2. ตลท.เห็นด้วยกับการปลดเพดานสิทธิประโยชน์ภาษี BOI หากธุรกิจเข้า ตลท.
  • นาย ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์(ตลท.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมติให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ธุรกิจที่ขอสนับสนุนการลงทุนและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยไม่จำกัดเพดานว่า หากธุรกิจที่มาขอบีโอไอนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดจะมีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น และเป็นการเพิ่มมูลค่าตลาด(มาร์เก็ตแคป)ของตลาดหุ้นไทย เพราะบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แผนการพัฒนาตลาดทุนไทยจำเป็นต้องเพิ่มความหลากหลายของประเภทบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซี่งในปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีจำนวน 500 บริษัท โดยบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นเกิน 50 % มีจำนวน 50-60 บริษัท และถือหุ้นเกิน 30% มีจำนวน 100 บริษัท ซึ่งการที่ BOI ได้มีมติให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ธุรกิจที่ขอสนับสนุนการลงทุน และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มการลงทุนภายในประเทศ และยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยตรงจากต่างประเทศ
3. ผู้ว่าฯ ธ.กลางยุโรปไม่เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องของทางการในหลายประเทศ โดยเห็นว่าสัญญาณทางเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นภาคการเงินที่วัดจากอัตราการกู้ยืมเริ่มมีเพิ่มขึ้น ในขณะที่หากทางการในหลายประเทศผลักดันมาตรการเศรษฐกิจระลอกใหม่ จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น และเป็นความเสี่ยงต่อสถานะทางการคลังในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวเป็นผลจากการที่ภาครัฐทั่วโลกใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวรุนแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มกังวลต่อความยั่งยืนทางการคลัง โดย IMF คาดว่าหนี้สาธารณะของประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวจากร้อยละ 75 ต่อ GDP เป็น 125-150 ใน 3 ปีข้างหน้า และอาจทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไปสูงขึ้นหากรัฐบาลชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วยการออกพันธบัตรให้ธนาคารกลางรับซื้อ อย่างไรก็ตาม สศค. เห็นว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังไม่สามารถเติบโตได้จากการฟื้นตัวของภาคเอกชน จึงเสี่ยงต่อการหดตัวลงอีกครั้งหากรัฐบาลไม่กระตุ้นการลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกจึงควรกระตุ้นการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลิตภาพระยะยาว ขณะเดียวกันควรยึดถือวินัยทางการคลัง วางแผนการลดการขาดดุลงบประมาณในระยะยาว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะไม่ทำนโยบายกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ