รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 มีนาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 5, 2010 10:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 มี.ค. 2553

Summary:

1. ธปท.เปิดเผยว่าเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยในสัปดาห์นี้ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็ง

2. กระทรวงพาณิชย์ประกาศ FTA จะมีผลบังคับใช้ 12 มี.ค.นี้ โดยสินค้ากว่าหมื่นรายการของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ภาษีนำเข้าเหลือ 0% ทันที

3. ตัวเลขการลงทุนในสินค้าทุนของญี่ปุ่นหดตัวลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 11

Highlight:
1. ธปท.เปิดเผยว่าเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยในสัปดาห์นี้ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็ง
  • ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดเงินและบริหารเงินสำรองประจำธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ให้ความเห็นว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้มาจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยเป็นส่วนใหญ่ และมีการไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้อีกเล็กน้อยเนื่องจากนักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นจากเสถียรของประเทศทางการเมืองที่ดีกว่าที่คาดไว้ในสัปดาห์นี้ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทในช่วงวันที่ 4 ม.ค. 53 เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับประมาณ 33.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ธปท.ไม่พบการเก็งกำไรในส่วนของเงินที่ไหลเข้า ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นผลของการเข้าซื้อเงินบาทเพื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นเริ่มกลับมามีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินวอนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาทของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.7 ภายในช่วง 1 สัปดาห์ ซึ่งอาจเป็นการบ่งชี้ว่าผู้ส่งออกอาจสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาได้ ดังนั้น ธปท. จึงควรเค้ามาดูแลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคเพื่อให้เอื้อต่อการแข่งขันและการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจจากภาคการส่งออก
2. กระทรวงพาณิชย์ประกาศ FTA จะมีผลบังคับใช้ 12 มี.ค.นี้ โดยสินค้ากว่าหมื่นรายการของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ภาษีนำเข้าเหลือ 0% ทันที
  • เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จะมีผลบังคับใช้สำหรับไทย ซึ่งผลของความตกลงจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีทางเลือกส่งออกสินค้า และบริการไปยังตลาดออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์มากขึ้น เพราะออสเตรเลียจะลดภาษีนำเข้าสินค้าเป็น 0% มากถึง 97% ของจำนวนสินค้าทั้งหมดที่ค้าขายระหว่างกัน หรือ 5,800 รายการ ส่วนนิวซีแลนด์จะลดภาษีกว่า 90% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด หรือ 6,500 รายการ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 53 ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ยังมีแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ที่ไม่สู้ดีนัก ดังนั้นการเปิดช่องทางการค้ากับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ถือเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น โดยออสเตรเลียนั้นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยและมีสัดส่วนการค้าทั้งหมดที่ร้อยละ 6.1 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย
3. ตัวเลขการลงทุนในสินค้าทุนของญี่ปุ่นหดตัวลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 11
  • ตัวเลขการลงทุนในสินค้าทุน (Capital Investment) (ไม่รวมซอฟแวร์) ของบริษัทญี่ปุ่นหดตัวลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 11 ที่ร้อยละ 18.5 ต่อปี ถึงแม้ว่ากำไรของบริษัทได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา จากการที่การส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
  • ฝ่ายเลขาฯวิเคราะห์ว่า การที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกในเดือนม.ค. 53 ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 30 ปีที่ร้อยละ 40.9 ต่อปี จากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดจีน สหรัฐฯและยุโรป ที่ขยายตัวร้อยละ 80 ร้อยละ 24 และร้อยละ 11 จากปีก่อนหน้า ตามลำดับ และส่งผลให้กำไรของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึนนั้น ควรจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นเริ่มที่จะขยายกิจการโดยการลงทุนเพิ่มเช่นกัน อย่างไรก็ตาม 2 ปัจจัยหลักซึ่งส่งผลให้การลงทุนในสินค้าทุนลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาได้แก่ 1) การแข็งค่าของสกุลเงินเยนในช่วงที่ผ่านมาและทรงตัวอยูในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นการกดดันให้บริษัทญี่ปุ่นนำกำไรที่ได้ไปลงทุนในต่างประเทศแทนการลงทุนในประเทศ 2) ปัญหาด้านอัตราเงินฝืด (deflation) จากความต้องการในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่ง 2 เหตุผลหลักดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักในสนับสนุนการลงทุนนอกประเทศดังกล่าว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ