สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 14:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) และการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810)เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ,37.2 และ 17.9 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2, 22.4 และ 16.0 ตามลำดับ เป็นผลจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าขยายตัวต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มีปัจจัยบวกจากที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกสิ่งทอภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีของอาเซียน เพื่อจะส่งต่อไปในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ เช่นเวียดนาม ลาว กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งนำเข้าสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำจากประเทศไทยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลาย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก และแนวโน้มแฟชั่นที่มีการออกแบบที่มีลักษณะโดดเด่นจึงได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น

2. การส่งออก

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 2,007.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 1,820.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการจำหน่าย 1,670.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 766.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 661.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 669.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 40.6 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด

2.2 ผ้าผืน ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 378.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการส่งออก 338.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 292.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.3 ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 257.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 203.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.4 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 172.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าการส่งออก 145.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

3. ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มีดังนี้

สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นหนึ่งในตลาดหลักสำหรับการส่งออกสิ่งทอของไทย ซึ่งการส่งออกสิ่งทอไทยไปสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่า 428.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 21.3 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมดของไทย สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ เคหะสิ่งทอ และผ้าผืน ตามลำดับ

สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 378.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.9 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปผ้าผืน เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

อาเซียน ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 349.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ9.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.4 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 139.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ20.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.9 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

4. การนำเข้า

การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยฯ เส้นด้ายฯผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นวัตถุทออื่นๆ ที่มีการนำเข้าลดลง ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า ได้แก่

4.1 กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) รวมทั้งสิ้น 1,380.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 45.0เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 94.0 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามี ดังนี้

4.1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 233.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 228.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 28.4, 20.5 และ 6.3 ตามลำดับ

4.1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 169.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 169.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 25.6,16.5 และ 12.2 ตามลำดับ

4.1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 419.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 404.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 47.2,16.2และ 7.0 ตามลำดับ

4.1.4 วัตถุทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 38.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 40.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ จีน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 26.1, 14.8 และ14.6 ตามลำดับ

4.2 กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 87.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ18.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 74.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.0 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 51.3, 11.6 และ 4.4 ตามลำดับ

5. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิต การจำหน่ายในประเทศและการส่งออก ซึ่งมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนจากแนวโน้มตลาดมีความต้องการสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอที่จะส่งเข้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2และส่งออกไปในตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการรับคำสั่งซื้อมาล่วงหน้าแล้ว แต่สำหรับเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีการผลิตที่ชะลอตัว เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ส่งผลให้โรงงานต้องหยุดการผลิตโดยเฉพาะโรงงานสิ่งทอในจังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น ซึ่งมีโรงงานสิ่งทอตั้งอยู่และเป็นโรงงานค่อนข้างใหญ่ และการที่โรงงานหยุดการผลิตจะส่งผลต่อต้นทุนที่ตามมาจากปัญหาการส่งมอบล่าช้า ซึ่งไม่สามารถขนส่งและส่งมอบงานได้ทันเวลา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านเงินบาทแข็งค่า การส่งออกชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ต้นทุนวัตถุดิบจากการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะฝ้ายที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งหมดได้มีการปรับราคาขึ้นร้อยละ 30-40 เพราะผลผลิตในประเทศผู้ผลิตลดลงจากภัยธรรมชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน แอฟริกาและอิหร่าน

จากสภาวะการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรจะผลิตสินค้าที่มีรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการในช่วงต่างๆ ของตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและหลีกเลี่ยงกับการแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศหลังจากภัยน้ำท่วมคาดว่าจะมีความต้องการเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นและเพิ่มการทำการตลาดภายในประเทศ เพิ่มการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีต่างๆ อาทิ เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า เพื่อกระจายความเสี่ยงของการส่งออก และการทำตลาดเฉพาะ เช่น ตลาดของผู้สูงอายุ หรือตลาดแฟชั่น เป็นต้น เพื่อสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ