สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2011 13:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 มีปริมาณ 7,652.3 ตันเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.6 สำหรับปี 2553 มีปริมาณการผลิต 30,556.7 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 8.9 โดยปริมาณการผลิตขยายตัว ตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งการรับจ้างผลิต สำหรับประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก คือ ยาน้ำ เพราะเป็นยาที่ผลิตและจำหน่ายได้ง่าย รวมทั้งราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังมี ยาครีม โดยผู้ผลิตได้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าจนเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น และยาผง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อของประเทศสหรัฐอเมริกากลับเข้ามาจำนวนหนึ่ง หลังจากหายไปเมื่อปีก่อน เพราะประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจอย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 0.4 โดยยาที่มีปริมาณการผลิตลดลงมาก คือยาน้ำ เนื่องจากไตรมาสนี้มีผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาเครื่องจักรชำรุด และบางรายได้ยกเลิกสายการผลิตยาชนิดนี้

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 มีปริมาณ 7,173.6 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.5 สำหรับปี 2553 มีปริมาณการจำหน่าย 30,193.5 ตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 12.1 โดยปริมาณการจำหน่ายขยายตัว เนื่องจากคนไทยยังให้ความสนใจดูแลสุขภาพตัวเอง ประกอบกับโครงการหลักประกันสุขภาพยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่ภาครัฐมีเป้าหมายที่จะเร่งลดรายจ่ายส่วนเกินด้านค่ารักษาพยาบาล โดยสนับสนุนให้ใช้ยาที่ผลิตในประเทศทดแทนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีความต้องการใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณการจำหน่ายจะขยายตัวดี แต่เนื่องจากมีการแข่งขันในตลาดสูง ทำให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าได้ราคาต่ำ สำหรับช่องทางการจำหน่ายหลักของผู้ประกอบการยังคงเป็นโรงพยาบาล และคลินิก แต่เริ่มมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตดี โดยจะวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ในร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค รวมถึงการหาลูกค้าร้านขายยาใหม่ ๆ ด้วย ทั้งนี้ ร้านขายยาเป็นตลาดที่สำคัญของทั้งผู้ผลิตในประเทศ และผู้นำเข้า เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใช้บริการมากขึ้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้บริการจากโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 10.4 ตามวัฏจักรธุรกิจ จากการจำหน่ายออกไปมากแล้วในช่วงไตรมาสที่ 3ของปี ซึ่งผู้ซื้อจะทำการระบายสินค้าที่ทำการสั่งซื้อในปริมาณมากก่อนหน้านั้นออกไป เนื่องจากยาเป็นสินค้าที่มีช่วงระยะเวลาในการใช้ และเพื่อรักษาระดับสินค้าคงคลัง

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 มีมูลค่า 9,559.2 ล้านบาท ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.7 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,329.6 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 45.3 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 38,123.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 2.9 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 16,914.4 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44.4 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

หากพิจารณามูลค่าการนำเข้ายาจากผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยาต้นแบบ และยาสามัญ เนื่องจากความเชื่อที่ว่ายาจากต่างประเทศดีกว่ายาที่ผลิตในประเทศ นอกจากนี้บริษัทยาชั้นนำของโลกได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับตลาดทางเอเชียมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับยาที่กำลังหมดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งการปรับลดราคายา เป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจหนึ่งที่บริษัทยานำเข้าใช้ดำเนินการ โดยเริ่มปรับราคายาบางรายการลงมาให้สอดคล้องกับรายได้ของประชากร เพื่อให้ผู้ป่วยในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงยาได้มากขึ้น ซึ่งแม้จะจำหน่ายได้ในราคาที่ลดลง แต่ทำให้ได้ยอดจำหน่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังดำเนิน กลยุทธ์ส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การจำหน่ายยาให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง การสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าการนำเข้าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่มีอัตราการขยายตัวไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีก่อน เนื่องจากภาครัฐควบคุมการเบิกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ และมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลง

หากเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการนำเข้ากลับลดลง ร้อยละ 5.1 เนื่องจากโรงพยาบาลได้ทำการสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ปริมาณมากในช่วงปลายปีงบประมาณ หรือในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีไปแล้วประกอบกับผู้นำเข้ามักจะลดการนำเข้าลงในช่วงไตรมาสที่ 4 เพื่อบริหารสินค้าคงคลัง

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 มีมูลค่า 1,521.6 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 0.9 และ 20.3 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 917.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.3 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด การส่งออกที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งเมียนมาร์ เวียดนาม และกัมพูชา มีมูลค่าลดลง โดยผู้ประกอบการส่งออกต้องแข่งขันสูงกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ในตลาดดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคมีมูลค่า 6,386.4 ล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 13.8 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชามาเลเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 3,986.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 62.4 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด โดยผู้ประกอบการได้พยายามพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ผู้ผลิตในประเทศยังรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกผลิตยาเพื่อป้อนตลาดต่างประเทศด้วย ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกยาทั้งปีเพิ่มสูงขึ้น

5. นโยบายรัฐบาล

5.1 ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ วัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย โดยร่างระเบียบฯ มีสาระสำคัญ คือ

1) กำหนดให้มีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

2) กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาจากการคัดเลือก

3) กำหนดให้จัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นหน่วยงานภายในกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันฯ จากข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

4) กำหนดให้งบประมาณที่ใช้ในกิจการการพัฒนางานด้านวัคซีนส่วนหนึ่งประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากกรมควบคุมโรค เงินอุดหนุนจากรัฐบาล และให้เงินและทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมด ยกเว้นงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงินบำรุงของสถาบัน

ทั้งนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นการยกระดับจากสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในสังกัดของกรมควบคุมโรค โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะเป็นหน่วยงานกลางแห่งชาติด้านวัคซีน ตามนโยบายและยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ ใช้งบประมาณดำเนินการ 4 ปี จำนวน 198.5 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตอบแทนบุคลากร งบดำเนินงานปกติ และงบเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย

5.2 ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผลิต ขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่ง ยาแผนโบราณ พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผลิต ขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนโบราณ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงมหาดไทยไปประกอบการพิจารณาด้วย โดยร่างกฎกระทรวงฯ มีสาระสำคัญ คือ

1) กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

2) เพิ่มเติมหลักฐานประกอบการขออนุญาตผลิต ข้อปฏิบัติของผู้รับอนุญาตผลิต ข้อปฏิบัติของผู้รับอนุญาต นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร และหน้าที่ของผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการของสถานที่ผลิต

3) กำหนดให้ใบอนุญาตผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนโบราณตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2525)ฯ ใช้ได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตนั้นจะสิ้นอายุ

4) กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนโบราณซึ่งได้รับอนุญาตก่อนกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับดำเนินการตามข้อ 5 วรรคสอง ข้อ 6 (8) และ (10) ภายในห้าปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ถูกจัดทำขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (PIC/S) และจะต้องดำเนินการให้หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาจากสมุนไพรเป็นข้อบังคับตามกฎหมายตามข้อตกลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาจากสมุนไพร (Good Manufacturing Practice : GMP) อันจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสมุนไพรของประเทศไทย และส่งผลให้ผู้บริโภค ได้ใช้ยาที่มีคุณภาพ และปลอดภัย ทั้งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และเป็นที่ยอมรับในผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรทั้งในประเทศและต่างประเทศนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง และมีศักยภาพในการส่งออก

6. สรุปและแนวโน้ม

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งการรับจ้างผลิต นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับการจำหน่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการที่คนไทยสนใจดูแลสุขภาพ ประกอบกับโครงการหลักประกันสุขภาพยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง และภาครัฐสนับสนุนให้ใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

การนำเข้า — ส่งออก มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากความเชื่อที่ว่ายาต่างประเทศดีกว่ายาไทย และการใช้กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของผู้นำเข้า โดยการปรับลดราคายา การเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ และการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร ในส่วนมูลค่าการส่งออกหดตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการแข่งขันสูงในตลาดหลักของไทย

แนวโน้มไตรมาสแรก ของปี 2554 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยา รวมทั้งมูลค่าการนำเข้าและส่งออก จะยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการนำเข้า เป็นจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ซึ่งผู้ซื้ออาจจะยังมีสินค้าเก่าเหลืออยู่ โดยสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ต่อไป ตามวัฏจักรธุรกิจ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ