สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2554(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2011 13:21 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีฯ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งการผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) และการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) ลดลงร้อยละ 6.1, 26.5 และ 11.5 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ การผลิตผ้าฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯ ลดลงร้อยละ 6.9, 13.8 และ 13.4 ตามลำดับ สาเหตุเนื่องจากราคาฝ้ายในตลาดโลกผันผวนมาก(**) มีปัจจัยหลักจากผลผลิตฝ้ายเข้าสู่ตลาดจากแหล่งผลิตใหญ่ทั่วโลกมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา จีน แอฟริกาและออสเตรเลีย ประกอบกับนักเก็งกำไรของจีนที่ไม่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้เทขายฝ้ายออกสู่ตลาดโลกพร้อมกัน เป็นเหตุให้ราคาฝ้ายตกลงอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยที่โรงปั่นด้ายได้ชะลอการสั่งซื้อฝ้ายมาสต๊อก ขณะที่โรงงานทอผ้าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องชะลอการผลิต ซึ่งจะผลิตเท่าที่มีคำสั่งซื้อเท่านั้น ส่งผลให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปและ เครื่องนุ่งห่มชะลอการผลิตทั้งที่ผลิตเพื่อการส่งออกและการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้มีการนำสินค้าในสต๊อกออกมาจำหน่ายเพิ่มขึ้นส่งผลให้สินค้าสำเร็จรูปคงคลังในไตรมาสนี้ลดลงค่อนข้างมาก

2. การส่งออก

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 2,096.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 2,149.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการจำหน่าย 1,820.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 744.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขื้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 700.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 661.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 38.5 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด

2.2 ผ้าผืน ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 410.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการส่งออก 416.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 338.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.3 ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 289.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 240.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.4 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 219.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 189.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

(**) ราคาฝ้าย ณ เดือนมีนาคม 2554 ราคาเฉลี่ยที่ 220 เซนต์ต่อปอนด์ เดือนพฤษภาคม 2554 ราคาเฉลี่ยที่ 165 เซนต์ต่อปอนด์ราคาซื้อขายล่วงหน้า ณ ตลาดนิวยอร์ก เดือนกรกฎาคม ราคาเฉลี่ยที่ 150 เซนต์ต่อปอนด์

3. ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มีดังนี้ อาเซียน ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 375.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเป็นตลาดหลักที่ไทยส่งออกไปจำหน่ายที่ปรับลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.9 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 394.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.8 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม (เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ) ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

สหรัฐอเมริกา ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 368.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 371.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.6 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ตามลำดับ

ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 179.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.6 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทออื่นๆ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และ ผ้าผืน เป็นต้น

4. การนำเข้า

การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยใช้ในการทอ ด้ายทอผ้า ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า ได้แก่

4.1 กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) รวมทั้งสิ้น 1,913.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 41.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 94.9 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามีดังนี้

4.1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 444.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 395.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 94.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 50.3, 12.6 และ 5.8 ตามลำดับ

4.1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 191.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 187.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และญี่ปุ่น สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 25.1, 15.2 และ 14.5 ตามลำดับ

4.1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 469.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 415.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 16..0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 49.5, 13.7 และ 7.2 ตามลำดับ

4.1.4 ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 77.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนร้อยละ 12.6 ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 88.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 39.2, 17.8 และ 6.0 ตามลำดับ

4.2 กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 103.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 97.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.1 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 52.6, 6.0 และ 4.4 ตามลำดับ

4.3 เครื่องจักรสิ่งทอ มีมูลค่านำเข้า 90.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 85.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และ ไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 28.3, 14.8 และ 13.4 ตามลำดับ

5. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะราคาฝ้ายดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเส้นด้ายและผ้าผืน มีความผันผวนมากในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงงานปั่นด้าย โรงงานทอผ้าและโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มมีต้นทุนการผลิตที่ผันผวน และจะผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น ประกอบกับปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเกิดอุทกภัยในประเทศ ส่งผลให้การผลิตปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาดส่งออกหลักซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า ยกเว้นอาเซียนที่มีแนวโน้มชะลอตัว

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อส่งมอบในอีก 1 เดือนหรือ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งคาดว่าราคาวัตถุดิบ(ฝ้าย) ที่ปรับลดลงเริ่มมีเสถียรภาพและจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่จะสามารถซื้อผ้าผืนได้ในราคาที่ถูกลง แต่ถ้าหากผู้ผลิต ผ้าผืนในประเทศไม่สามารถที่จะปรับราคาจำหน่ายลงได้ อาจจะส่งผลให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มหันไปนำเข้าผ้าผืนจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการผ้าผืนในประเทศต้องปรับตัวสำหรับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากมูลค่าการนำเข้าผ้าผืนในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนำเข้าหลักจากประเทศจีน ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น ร้อยละ 49.5, 13.7 และ 7.2 ตามลำดับ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ