สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2012 15:58 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมผลิตภัณฑ์พลาสติก

อุตสาหกรรมพลาสติกนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนให้กับภาคการผลิตอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ (38%)(2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (18%) อุตสาหกรรมการก่อสร้าง (15%) และอุตสาหกรรมยานยนต์ (10%) เป็นต้น อุตสาหกรรมพลาสติกสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้กว่า 2.2 แสนล้านบาท และมีการสร้างงานในภาคอุตสาหกรรมกว่า 350,000 คน ร้อยละ 80 ของผู้ประกอบการจะเป็นขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล

การผลิต

ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกของไทยช่วยสะท้อนภาพการผลิตในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ดังนี้

อุตสาหกรรมพลาสติกในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2554 มีทิศทางการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากผลพวงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นฟูภาวะหลังน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2553 อีกทั้งยังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเลือกตั้งในไตรมาส 2 ที่ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และเมื่อคณะรัฐบาลชุดใหม่ประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามไปด้วย

ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2554 หลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งทางตรงและทางอ้อม โรงงานพลาสติกกว่าร้อยละ 64 อยู่ในพื้นที่ภาคกลางซึ่งเป็นอีกพื้นที่ประสบอุทกภัย จากการประมาณการณ์คาดว่าร้อยละ 30 ของโรงงานทั่วประเทศได้รับผลกระทบโดยตรงจนต้องหยุดการผลิต ทำให้ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกลดลง นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในสายโซ่การผลิตถูกน้ำท่วม ส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลงอย่างไรก็ตาม อุปสงค์ของผลิตภัณฑ์พลาสติกบางประเภทได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกักตุนสินค้าเพื่อรองรับกับภาวะน้ำท่วมขัง เช่น ขวด ถัง ภาชนะรองน้ำดื่ม เรือ กระสอบทราย และแผ่นพลาสติก

เหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชะลอตัวลงและมีการคาดการณ์ตัวเลข GDP ปี 2554 ที่ลดลง และกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคสินค้าและบริการที่ลดลง โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นแรงงานในโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ

หมายเหตุ

(2) ตัวเลขในวงเล็บคือสัดส่วนมูลค่าการผลิต

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติกในปี 2555 มีประเด็นต่างๆที่ควรติดตาม ดังนี้

-ความคืบหน้าของสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ รวมถึงการกลับมาเดินเครื่องตามปกติของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม การประเมินความเสียหาย การซ่อมแซม ต่างๆ -มาตรการในการให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วน หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อมาทดแทนในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะมาตรการสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลาสติกภายในประเทศ

-ในภาวะน้ำลด จะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น มีการซ่อมสิ่งของ รถยนต์ บ้านพักอาศัย ทั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการผลิตอีกครั้ง ดังนั้นจะเป็นผลดีกับโรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบ ที่จะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น

-อัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทกับดอลลาร์ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่มีความเสี่ยงที่ผันผวน จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น เงินทุนจะไหลเข้าสู่เอเชีย อาเซียน และไทยมากขึ้น

-วิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่จะส่งผลต่อผู้ส่งออกไปยังภูมิภาคเหล่านี้

การตลาด

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าของไทย 10 เดือนแรก ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลิตภัณฑ์ในหมวด 3926 หรือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ในช่วงปลายปีได้เกิดวิกฤตมหาอุทกภัยโดยเฉพาะในเดือนตุลาคม ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลักๆ ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถทำการผลิตได้ ส่งผลให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกที่จะป้อนให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องดังกล่าวมีมูลค่าลดลง คาดว่าการนำเข้าในปี 2554 จะมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 3.4

การส่งออก

ตัวเลขมูลค่าการส่งออก 10 เดือน สูงขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์พลาสติกไทยจะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวก็ตาม แต่ไม่ได้ทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบมากนัก ที่เป็นเช่นนี้อาจมีสาเหตุมาจากการที่ภาคการผลิตของญี่ปุ่นหยุดชะงักและต้องหันมาพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอย่างเช่นจากประเทศไทยเพื่อทดแทนสินค้าในประเทศที่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ และเป็นโอกาสให้การส่งออกของไทยมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์หมวดที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ หมวด 3926 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ อย่างไรก็ตามคาดว่า มูลค่าการส่งออกของไตรมาส 4 จะมีมูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553 กว่าร้อยละ 20 โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนหลังเหตุอุทกภัย คือ เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม เนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงงานผู้ผลิต และคาดว่าการส่งออกปี 2554 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.8 ซึ่งจะส่งผลให้การขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 12,054 ล้านบาท

แนวโน้มผลิตภัณฑ์พลาสติก ปี 2555

นักเศรษฐศาสตร์และรัฐบาลตั้งเป้าว่า GDP ของปี 2555 จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.5-5.5 ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอุตสาหกรรมพลาสติกมีแนวโน้มจะขยายตัวตามสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่จะปรับตัวดีขึ้น อันเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่คลี่คลายลงโดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนพลาสติกที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องสามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตได้อีกครั้ง หลังจากที่โรงงานผู้ผลิตได้รับการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

การส่งออกจะกลับมาดีขึ้นแต่น่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าปีก่อนหน้าหรือต่ำกว่าร้อยละ 8 เนื่องจากเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักในอุตสาหกรรมพลาสติกของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และจีน มีแนวโน้มชะลอตัวและค่าเงินบาทแข็งตัวมากขึ้น นอกจากนี้วงจรของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ความต้องการในการใช้เม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมดังกล่าวลดลงด้วย และการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พลาสติกในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากประชาชนต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากเหตุน้ำท่วม นอกจากนี้ความต้องการชิ้นส่วน เพื่อการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ จะเพิ่มมากขึ้น

รัฐบาล/สศอ. มาตรการ/นโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจ และช่วยเหลือผู้ประกอบการ

1.ภาครัฐมีมาตรการการเร่งป้องกันน้ำท่วม การชดเชยแรงงาน การลดการจัดเก็บค่าไฟฟ้า การจัดตั้งเงินกองทุนประกันสังคม รวมทั้งการเร่งฟื้นฟูในภาวะน้ำลด เพื่อช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

2.สถาบันพลาสติกซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2555 วงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกของไทย ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า 2) โครงการส่งสริมและสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก และ 3) โครงการศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมพลาสติก และเครือข่าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ