รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2013 15:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนตุลาคม 2555
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2555 เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555 ร้อยละ 0.3 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เบียร์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากฐานที่ต่ำซึ่งเกิดจากเหตุอุทกภัยในเดือนตุลาคม 2554
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนตุลาคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 67.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.2 ในเดือนกันยายน 2555
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนพฤศจิกายน 2555

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะชะลอตัวต่อไป เนื่องจากความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังคงส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่สองที่ผ่านมา และราคาฝ้ายในตลาดล่วงหน้าที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

  • สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2555 คาดว่าเหล็กทรงยาวจะยังคงทรงตัว ในขณะที่เหล็กทรงแบนในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อนอาจจะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากผลทางด้านบวกจากการที่กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดการไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้น
  • ในช่วงที่ผ่านมาผู้นำเข้าในประเทศได้ใช้ช่องว่างทางภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่เจือโบรอนหรือโครเมียม (โดยสำแดงว่าเป็นเหล็กอัลลอยด์) ที่นำเข้ามาจากทั้งประเทศจีนและสาธารณรัฐเกาหลีเป็นปริมาณมาก ส่งผลทำให้ผู้ผลิตไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้และบางรายต้องหยุดการผลิตลงซึ่งประกาศฉบับนี้ของกรมการค้าต่างประเทศอาจมีผลทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวลดลง และผู้ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอาจกลับมาใช้สินค้าไทยมากขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ก.ย. 55 = 173.4

ต.ค. 55 = 173.9

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยานยนต์
  • เบียร์
  • ผลิตภัณฑ์ยาสูบ
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ก.ย. 55 = 64.2

ต.ค. 55 = 67.9

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • โทรทัศน์สี
  • ยานยนต์
  • เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนตุลาคม 2555 มีค่า 173.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555(173.4) ร้อยละ 0.3 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนตุลาคม 2554 (127.7) ร้อยละ 36.1

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน2555 ได้แก่ ยานยนต์ เบียร์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ลวดและเคเบิ้ล เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ เบียร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนตุลาคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 67.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน2555 (ร้อยละ 64.2) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนตุลาคม 2554 (ร้อยละ 46.4)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555ได้แก่ โทรทัศน์สี ยานยนต์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เบียร์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2555

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2555 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 385 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 379 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 1.58 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 16,997.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการลงทุน 12,806.77 ล้านบาท ร้อยละ 32.72 แต่มีการจ้างงานจำนวน 7,766 คน ลดลงจากเดือนกันยายน 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,725 คน ร้อยละ 10.99

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 305 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 26.23 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2554 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 5,904 คน ร้อยละ 31.54 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งมีการลงทุน 17,091.72 ล้านบาท ร้อยละ 0.55

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนตุลาคม 2555 คืออุตสาหกรรมทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนจากไม้ จำนวน 34 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดดิน ทรายและร่อนล้างหรือคัดกรวดทราย จำนวน 26 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนตุลาคม 2555 คืออุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วน ข้อต่อ ท่อทองแดง ของเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องทำความเย็นจำนวนเงินทุน 3,326.80 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี จำนวนเงินทุน 3,079.60 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนตุลาคม 2555 คืออุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ จำนวนคนงาน 442 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ในรถยนต์ จำนวนคนงาน 397 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2555 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 97 ราย มากกว่าเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 70 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.57 มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 4,017 คน มากกว่าเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,220 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,280.32 ล้านบาทน้อยกว่าเดือนกันยายน 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,043.25 ล้านบาท

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 77 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 25.97 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนตุลาคม2554 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 568.13 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนตุลาคม 2554 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 1,860 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนตุลาคม 2555 คือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน จำนวน 9 โรงงานเท่ากัน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมและเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 8 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนตุลาคม 2555 คืออุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ เงินทุน 392.00 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ เงินทุน 175.64 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำ นวนคนงานสูงสุดในเดือนตุลาคม 2555คือ อุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ จำนวนคนงาน 1,515 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 1,330 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม -ตุลาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 1,890 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,273 โครงการ ร้อยละ 48.47 และมีเงินลงทุน 773,200 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 278,200 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 177.93

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2555
          การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%               701                     189,200
          2.โครงการต่างชาติ 100%              718                     226,400
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ        471                     357,700
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — ตุลาคม2555 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 288,800 ล้านบาทรองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม155,700 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลปลายปี ส่วนการจำหน่ายภายในอาจปรับตัวลดลง จากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ส่งผลให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนตุลาคม 2555 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 3.3 และ 7.1 แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก เช่น ปลาทูน่ากระป๋องสับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.3 145.4 และ 12.0 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณากลุ่มสินค้าสำคัญโดยเปรียบเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อน เช่น ผลิตภัณฑ์ไก่ มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 3.5 และ 9.3 ตามลำดับ เป็นผลจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนและการคำนวณราคาต้องปรับตาม กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำ มันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเปรียบเทียบกับปีก่อนร้อยละ 32.5 และ 46.7 ตามลำดับ เป็นผลจากการผลิตเพื่อชดเชยสต็อกที่ลดลงในช่วงเดือนก่อน

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนตุลาคม 2555 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 4.5 และ 1.6 เป็นผลจากการส่งสินค้าได้คล่องตัวขึ้นหากเทียบกับความยากลำบากจากสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปีก่อน

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 12.7 และ 11.9 ตามลำดับ เนื่องจากระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามระดับราคาน้ำมัน ประกอบกับปัญหาภัยแล้งในสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่มีแนวโน้มจะขยับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล เพื่อรองรับเทศกาลช่วงปลายปีสำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน จากสถานการณ์ราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะชะลอตัวต่อไปเนื่องจากความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังคงส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค”

1. การผลิต

เดือนตุลาคม 2555 ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวลดลงในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องนอนและผ้าขนหนู ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก และผ้าลูกไม้ โดยลดลงร้อยละ 0.88, 1.79, 12.13, และ 20.66 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ผ้ายางยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ และเส้นใย โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.17, 7.95 และ 4.60 ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เส้นใย ผ้ายางยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ และผ้าผืน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.43, 30.84, 12.10 และ 4.46 ตามลำดับ

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนการจำหน่ายส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าถัก เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าทอ ผ้ายางยืด และผ้าผืน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.15, 6.14, 5.93, และ 0.10 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายในประเทศส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ เส้นใย ผ้าผืน เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าถัก ผ้ายางยืดและเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าทอ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.45, 15.04, 12.94, 6.64 และ 6.52 ตามลำดับ

การส่งออก โดยรวมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย และผ้าปักและผ้าลูกไม้ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.70, 2.53, 30.20, และ 25.16 อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์โดยลดลงร้อยละ 3.75, 0.78 และ 4.11 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกโดยรวมลดลงร้อยละ 6.12 สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น คือ ตลาดสหภาพยุโรป อาเซียน และญี่ปุ่น โดยส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.30, 5.99 และ 2.68 อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกที่ลดลงคือ สหรัฐอเมริกา โดยลดลงร้อยละ 1.43 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด คือ อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยลดลงร้อยละ 3.50, 2.35, และ 11.13 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะชะลอตัวต่อไป เนื่องจากความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังคงส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่สองที่ผ่านมา และราคาฝ้ายในตลาดล่วงหน้าที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ประกาศเปิดการไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตในประเทศได้แจ้งว่าได้รับความเสียหายจากปริมาณการนำเข้าเหล็กดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากประกาศดังกล่าวจะมีผลทำให้แนวโน้มการนำเข้าเหล็กดังกล่าวลดลง และส่งผลในแง่บวกแก่ผู้ผลิตในประเทศ

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 134.33 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.61 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.19 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.88 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตภายในประเทศได้รับผลกระทบจากเหล็กนำเข้าซึ่งมีราคาถูก จึงทำให้ไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศต้องได้ปรับลดราคาสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันทางการตลาดได้ จึงมีผลทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่ามีการผลิตที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.36 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ลวดเหล็กแรงดึงสูง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.21 รองลงมาคือ เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.94 ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.68 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.20 เหล็กทรงยาว มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.23

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนตุลาคม 2555 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กทุกตัวมีดัชนีราคาเหล็กที่ลดลง ดังนี้ เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 111.62 เป็น 103.48 ลดลง ร้อยละ 7.29 เหล็กเส้น ลดลงจาก 129.25 เป็น 120.21 ลดลง ร้อยละ 6.99 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 124.70 เป็น 118.75 ลดลง ร้อยละ 4.77 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 112.30 เป็น 108.20 ลดลง ร้อยละ 3.65 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 119.62 เป็น 115.88 ลดลง ร้อยละ 3.13 จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์เหล็กทุกตัวมีราคาที่ลดลงเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของโลกมีการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้นแต่ความต้องการใช้ในประเทศกลับลดลง

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2555 คาดว่าเหล็กทรงยาวจะยังคงทรงตัวอยู่เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศที่ยังคงทรงตัวอยู่ในขณะที่เหล็กทรงแบนในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อนอาจจะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากผลทางด้านบวกจากการที่กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดการไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาผู้นำเข้าในประเทศได้ใช้ช่องว่างทางภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่เจือโบรอนหรือโครเมียม (โดยสำแดงว่าเป็นเหล็กอัลลอยด์) ที่นำเข้ามาจากทั้งประเทศจีนและสาธารณรัฐเกาหลีเป็นปริมาณมาก ส่งผลทำให้ผู้ผลิตไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้และบางรายต้องหยุดการผลิตลง ซึ่งประกาศฉบับนี้ของกรมการค้าต่างประเทศอาจมีผลทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวลดลง และผู้ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอาจกลับมาใช้สินค้าไทยมากขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เนื่องจากมีฐานค่อนข้างต่ำ เพราะในเดือนตุลาคมของปีก่อน ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ไม่สามารถทำการผลิตได้ ประกอบกับตลาดภายในประเทศมีความต้องการรถยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 252,165 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งมีการผลิต 49,439 คัน ร้อยละ 410.05 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555 ร้อยละ 10.36 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 134,159 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 42,873 คัน ร้อยละ 212.92 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555 ร้อยละ 0.97 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์ PPVรวมกับ SUV
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 98,284 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม2554 ซึ่งมีการส่งออก 54,691 คัน ร้อยละ 79.71 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนกันยายน 2555 ร้อยละ 2.96
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2555 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2555 เนื่องจากความต้องการรถยนต์ของตลาดในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการขยายสิทธิตามนโยบายรถคันแรก สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 56 และส่งออกร้อยละ 44

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เนื่องจากมีฐานค่อนข้างต่ำ เพราะในเดือนตุลาคมของปีก่อน ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยทำให้ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไม่สามารถทำการผลิตได้ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนตุลาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 202,118 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งมีการผลิต 66,369 คัน ร้อยละ 204.54 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนกันยายน 2555 ร้อยละ 6.98 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 167,009 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 134,811 คัน ร้อยละ 23.88โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวแบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนกันยายน 2555 ร้อยละ 2.25 โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 26,183 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งมีการส่งออก 17,114 คันร้อยละ 52.99 และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555 ร้อยละ 27.96
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2555 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2555 สำ หรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 88 และส่งออกร้อยละ 12
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์อยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในช่วงปลายปีต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุน คือ การลงทุนโครงการพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ และความต้องการใช้ในการก่อสร้างของทุกภาคส่วนสำหรับการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนตุลาคม 2555 ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่าย ในประเทศ ลดลงร้อยละ 1.97 และ 15.89 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว แรงงานในภาคก่อสร้างกลับไปสู่ภาคเกษตรกรรม ประกอบกับปีนี้ฤดูกาลผิดปกติหลายพื้นที่มีฝนตกชุกมากโดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ ทำให้การก่อสร้างต้องชะลอตัวส่งผลให้การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงตามไปด้วย แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.50 และ 5.59 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากฐานของปีก่อนค่อนข้างต่ำ

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนตุลาคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ลดลงร้อยละ 12.60 เนื่องจากลูกค้านอกทวีปเอเชีย เช่น ชิลี เคนยาและรียูเนียน จะมียอดซื้อเป็นช่วง ๆ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.93 เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีอุปสรรคในการขนส่งจากปัญหามหาอุทกภัย

เมื่อพิจารณาในภาพรวมแม้การส่งออกจะชะลอตัวไปบ้าง แต่ตลาดส่งออกหลัก ซึ่งเป็นประเทศในแถบอาเซียนและเอเซียใต้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้ซึ่งมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

3.แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิต และการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าจะขยายตัวได้ในช่วงปลายปีต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า เนื่องจากย่างเข้าฤดูกาลก่อสร้าง โดย ปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วน สนับสนุน คือการผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายตัวของภาคธุรกิจการก่อสร้างต่าง ๆ รวมทั้งความต้องการผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัตถุดิบหลักเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกคาดว่ายังคงขยายตัวได้ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักในแถบภูมิภาคนี้ และนอกภูมิภาคมีศักยภาพและมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนตุลาคม 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 232.01 ลดลงร้อยละ 9.84 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 2.67 เนื่องจากยังไม่มีการเพิ่มยอดการผลิตให้กับฐานการผลิตในไทยเท่าที่ควร

ตารางที่ 1  สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ต.ค. 2555
          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์         มูลค่า (ล้านเหรียญฯ)      %MoM           %YoY
          อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์       1,545.6           -3.4           37.0
          วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี              563.5          -13.6            2.4
          กล้องถ่าย TV , VDO                     245.0           38.7           81.4
          เครื่องปรับอากาศ                        241.9           16.2           33.0
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์        4,508.8           -3.4           26.5
          ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนตุลาคม 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 232.01 ลดลงร้อยละ 9.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 2.67 โดยมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.74 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.72 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 12.97 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 11.41 ซึ่งเป็นการปรับลดลงในกลุ่ม HDD เนื่องจากบริษัทแม่ยังไม่เพิ่มยอดผลิตให้กับฐานการผลิตในไทยให้กลับมาเท่าเดิมก่อนเกิดปัญหาอุทกภัยนอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ส่งผลให้ความต้องการลดลง

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนตุลาคม 2555 มีมูลค่า 4,508.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,983 ล้านเหรียญสหรัฐ ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.0 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ กล้องถ่าย TV,VDO มีมูลค่าส่งออก 245 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.4 รองลงมาคือ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 241.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.0เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,525.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,545.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 3.4 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.0 เนื่องจากราคามีการปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับวงจรรวมและไมโครแอสแซมบลีมีมูลค่าส่งออก 563.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 13.6 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.0 จากปัญหาน้ำท่วมทำให้ฐานปีที่แล้วค่อนข้างต่ำ

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนพฤศจิกายน2555 จากแบบจำ ลองดัชนีชี้นำ ภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดการณ์ว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ