รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 21, 2013 14:51 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนพฤศจิกายน 2555
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2555 เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2555 ร้อยละ 8.8 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานที่ต่ำซึ่งเกิดจากเหตุอุทกภัยในเดือนพฤศจิกายน 2554
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนพฤศจิกายน 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 68.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.7 ในเดือนตุลาคม 2555
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนธันวาคม 2555

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

  • สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนธันวาคม 2555 คาดว่าเหล็กทรงยาวจะยังคงทรงตัวอยู่เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศที่ยังคงทรงตัวอยู่
  • ในขณะที่เหล็กทรงแบนในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อนอาจจะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากการนำเข้าที่ลดลงจากการที่กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดการไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาผู้นำเข้าในประเทศได้ใช้ช่องว่างทางภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่เจือโบรอนหรือโครเมียม (โดยสำแดงว่าเป็นเหล็กอัลลอยด์) ที่นำเข้ามาจากทั้งประเทศจีนและสาธารณรัฐเกาหลีเป็นปริมาณมาก ส่งผลทำให้ผู้ผลิตไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้และบางรายต้องหยุดการผลิตลง ซึ่งประกาศฉบับนี้ของกรมการค้าต่างประเทศอาจมีผลทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวลดลง

อุตสาหกรรมรถยนต์

  • ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2555 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน2555 เนื่องจากความต้องการรถยนต์ของตลาดในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการขยายสิทธิตามนโยบายรถคันแรก สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2555 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 57 และส่งออกร้อยละ 43
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ต.ค. 55 = 173.8

พ.ย. 55 = 189.1

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • เบียร์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ต.ค. 55 = 67.7

พ.ย. 55 = 68.6

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนพฤศจิกายน 2555 มีค่า 189.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2555(173.8) ร้อยละ 8.8 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤศจิกายน 2554 (103.2) ร้อยละ 83.3

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม2555 ได้แก่ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนพฤศจิกายน 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 68.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2555 (ร้อยละ 67.7) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤศจิกายน 2554 (ร้อยละ41.8)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2555 ได้แก่ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ยาสูบเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2555

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2555 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 344 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 385 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ10.65 มีการจ้างงานจำนวน 6,365 คน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,766 คน ร้อยละ18.04 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 26,138.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีการลงทุน16,997.24 ล้านบาท ร้อยละ 53.78

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 286 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 20.28มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งมีการลงทุน 10,814.08 ล้านบาท ร้อยละ 141.71และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 5,154 คน ร้อยละ 23.50

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2555 คืออุตสาหกรรมขุดดิน ทรายและร่อนล้างหรือคัดกรวดทราย จำนวน 37 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรม ทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารจากไม้ จำนวน 21 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2555 คืออุตสาหกรรมผลิตส่งและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 7,382.24 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตน้ำเย็น จำหน่ายให้อาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรม จำนวนเงินทุน 4,129.61 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2555 คืออุตสาหกรรมผลิตตู้เย็น จำนวนคนงาน 435 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตภาชนะบรรจุจากพลาสติก จำนวนคนงาน 278 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2555 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 63 ราย น้อยกว่าเดือนตุลาคม 2555ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 97 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.05 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 394.08ล้านบาท น้อยกว่าเดือนตุลาคม 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,280.32 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานจำนวน 1,631 คน น้อยกว่าเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 4,017 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 123 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 48.78 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,551.56 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 1,985 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2555 คืออุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสม ผลิตภัณฑ์ยิมซั่ม ปูนปลาสเตอร์ และอุตสาหกรรมซ่อมและเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 8 โรงงานเท่ากัน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวน 7 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2555 คืออุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ เงินทุน 81.30 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมพิมพ์ ทำแฟ้มเก็บเอกสาร เย็บเล่ม ทำปก ตบแต่งสิ่งพิมพ์ เงินทุน 76.0 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2555คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์จำนวนคนงาน 707 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมพิมพ์ ทำแฟ้มเก็บเอกสาร เย็บเล่ม ทำปกตบแต่งสิ่งพิมพ์ จำนวนคนงาน 253 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 2,056 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,490โครงการ ร้อยละ 37.99 และมีเงินลงทุน 813,800 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน391,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 107.92

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2555
             การร่วมทุน                จำนวน(โครงการ)          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%             751                     193,700
          2.โครงการต่างชาติ 100%            785                     242,200
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ      520                     378,000
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2555 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 297,000 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 163,700 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลปลายปี ส่วนการจำหน่ายภายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากการที่ประชาชนเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ แม้ว่าระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มจะปรับเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤศจิกายน 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 6.0 และ 0.9 แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.9 และ 8.9 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณากลุ่มสินค้าสำคัญโดยเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น กุ้ง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 2.1 เป็นผลจากคำสั่งซื้อชะลอตัวลงจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตลดลงโดยเปรียบเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 22.7 และ 43.6 ตามลำดับ เป็นผลจากความต้องการที่ชะลอตัวลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2555 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 2.2 และ 3.4 ตามลำดับ เป็นผลจากการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และการชะลอการจับจ่ายใช้สอยเพื่อนำไปใช้ในเดือนถัดไปในช่วงเทศกาลปีใหม่

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อน ร้อยละ 15.6 และ 1.1 ตามลำดับเนื่องจากระดับราคาสินค้าในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามระดับราคาน้ำมัน ประกอบกับปัญหาภัยแล้งในสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่มีแนวโน้มจะขยับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล เพื่อรองรับเทศกาลช่วงปลายปี สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการที่ประชาชนเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่แม้ว่าระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มจะปรับเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล เพื่อรองรับเทศกาลช่วงปลายปีและเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง...”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากการผลิตที่ขยายตัวค่อนข้างมากในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าลูกไม้ ยางยืด และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ ลดลงร้อยละ 0.9, 9.3, 1.1 และ 9.7 ตามลำดับ แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ประสบปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ55.9 ในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ ร้อยละ 11.9 ในกลุ่มผ้าผืน และร้อยละ 11.6 ในกลุ่มยางยืด เนื่องจากความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากไทยในตลาดอาเซียนยังมีอยู่มาก ซึ่งจะเป็นโอกาสให้การผลิตเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในภาพรวมค่อนข้างชะลอตัว เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในตลาดนำเข้าสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนมีการจำหน่ายลดลงสอดคล้องกับภาคการผลิต ยกเว้นผ้าขนหนู เครื่องนอน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเพื่อเป็นของขวัญของที่ระลึกช่วงเทศกาลปีใหม่

การส่งออกโดยรวม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายฝ้าย ผ้าผืน เคหะสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ร้อยละ 2.8, 4.4, 0.5, 6.0 และ 3.9 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เดียวกันร้อยละ 6.0, 44.8, 7.4, 14.0 และ 3.4ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ร้อยละ 2.1 และ 12.8 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียนญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ร้อยละ 9.2, 14.9, 1.0 และ 3.8 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล เพื่อรองรับเทศกาลช่วงปลายปีและเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลส่งความสุขปีใหม่เพิ่มขึ้น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ประกาศเปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนสูงรวมถึงเหล็กลวดคาร์บอนสูงที่เจือธาตุอื่นที่แหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตในประเทศ ได้ยื่นคำขอให้พิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดในสินค้าดังกล่าว โดยประกาศ ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน2555

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2555 ชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 133.77 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.23 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 11.15 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนลดลง ร้อยละ 6.94 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหล็กนำเข้าซึ่งมีราคาถูก ทำให้ผู้ผลิตไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ ส่งผลให้คำสั่งซื้อของผู้ผลิตในประเทศลดลงการผลิตจึงลดลงด้วย สำหรับกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่ามีการผลิตที่ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.69 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 4.50 รองลงมาคือ เหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 1.52 ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.01 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.25 เหล็กทรงยาว มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ36.02

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนธันวาคม 2555 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีดัชนีราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก101.74 เป็น 103.48 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.71 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 108.20 เป็น109.43 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.14 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 114.88 เป็น 115.42เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.47 สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีดัชนีราคาเหล็กที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 122.70 เป็น 121.15 ลดลง ร้อยละ 1.26 เหล็กเส้น ลดลงจาก122.76 เป็น 122.34 ลดลง ร้อยละ 0.34 โดยจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีดัชนีราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นจะเป็นในส่วนของเหล็กทรงแบนแต่ในส่วนของเหล็กทรงยาวจะมีราคาที่ลดลง

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนธันวาคม 2555 คาดว่าเหล็กทรงยาวจะยังคงทรงตัวอยู่เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศที่ยังคงทรงตัวอยู่ในขณะที่เหล็กทรงแบนในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อนอาจจะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากการนำเข้าที่ลดลงจากการที่กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดการไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาผู้นำเข้าในประเทศได้ใช้ช่องว่างทางภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่เจือโบรอนหรือโครเมียม (โดยสำแดงว่าเป็นเหล็กอัลลอยด์) ที่นำเข้ามาจากทั้งประเทศจีนและสาธารณรัฐเกาหลีเป็นปริมาณมาก ส่งผลทำให้ผู้ผลิตไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้และบางรายต้องหยุดการผลิตลง ซึ่งประกาศฉบับนี้ของกรมการค้าต่างประเทศอาจมีผลทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวลดลง

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เนื่องจากมีฐานค่อนข้างต่ำเพราะในเดือนพฤศจิกายนของปีก่อน ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ไม่สามารถทำการผลิตได้ ประกอบกับตลาดภายในประเทศมีความต้องการรถยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 256,581 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน2554 ซึ่งมีการผลิต 23,695 คัน ร้อยละ 982.85 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม2555 ร้อยละ 1.75 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
  • การจำ หน่ายรถยนต์ จำ นวน 148,243 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 25,664 คัน ร้อยละ 477.63 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2555 ร้อยละ 10.50 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV
  • การส่งออกรถยนต์ จำ นวน 100,225 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งมีการส่งออก 6,258 คัน ร้อยละ 1,501.55 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2555 ร้อยละ 1.97 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2555 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2555 เนื่องจากความต้องการรถยนต์ของตลาดในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการขยายสิทธิตามนโยบายรถคันแรก สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2555 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 57 และส่งออกร้อยละ 43

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เนื่องจากมีฐานค่อนข้างต่ำ เพราะในเดือนพฤศจิกายนของปีก่อน ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัย ทำให้ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไม่สามารถทำการผลิตได้ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนพฤศจิกายน ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 196,615 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งมีการผลิต 33,424 คัน ร้อยละ 488.24 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวและแบบสปอร์ต แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนตุลาคม 2555 ร้อยละ 2.72 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 165,774 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 128,324 คัน ร้อยละ29.18 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวแบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนตุลาคม 2555 ร้อยละ 0.74 โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 24,053คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งมีการส่งออก 1,978คัน ร้อยละ 1,116.03 แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนตุลาคม 2555 ร้อยละ 8.14
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม2555 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน2555 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2555ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 89และส่งออกร้อยละ 11
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดีเนื่องจากการลงทุนที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องของภาครัฐ และการลงทุนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามพื้นที่บริเวณโครงการรถไฟฟ้า การส่งออกมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างในอาเซียนโดยเฉพาะในตลาดหลักของไทย ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนพฤศจิกายน 2555เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ ลดลงร้อยละ 3.55และ 7.25ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.45 และ 23.90ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากการลงทุนที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องของภาครัฐ และการลงทุนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามพื้นที่บริเวณโครงการรถไฟฟ้า

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนพฤศจิกายน 2555 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ลดลงร้อยละ 12.09 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.19 เมื่อพิจารณาในภาพรวมการส่งออกชะลอตัวลงเนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยในแถบอาเซียนเริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า อย่างไรก็ตามโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนเพื่อขยายฐานการผลิต

3.แนวโน้ม

ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ตลอดปี 2555 มีอัตราการเติบโตที่ดีผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างเร่งพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปรับตัวสูงขึ้นสำหรับไตรมาสแรกของปี 2556 ซึ่งเป็นฤดูการก่อสร้างของไทยคาดว่าอุปสงค์ต่อปูนซีเมนต์จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสดังกล่าวเช่นทุกปี สำหรับแนวโน้มการส่งออก การขยายตัวภาคก่อสร้างในอาเซียนโดยเฉพาะในตลาดหลักของไทย ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาวส่งผลให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้โดยเฉพาะในเมียนมาร์ที่เพิ่งมีการเปิดประเทศ จึงมีความต้องการงานสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นจำนวนมาก

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและ

อิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤศจิกายน 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 295.29 เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.26 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากบริษัทแม่เริ่มเพิ่มยอดการผลิตให้กับฐานการผลิตในไทย และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 190.84เนื่องจากปีก่อนประสบปัญหาอุทกภัยทำให้ฐานการผลิตอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

          ตารางที่ 1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน พ.ย. 2555
          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์            มูลค่า(ล้านเหรียญฯ)      %MoM           %YoY
          เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ    1,583.24            4.07          159.86
          วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี              537.41           -0.81           23.26
          เครื่องปรับอากาศ                        280.58           -3.33          100.95
          เครื่องรับโทรทัศน์สี                       162.08           -5.38           33.97
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์        4,552.26           -0.33           59.08
          ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤศจิกายน 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 295.29 เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 190.84 โดยมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.81 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 109.51 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.90 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 211.31 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่ม HDDเนื่องจากบริษัทแม่เริ่มเพิ่มยอดผลิตให้กับฐานการผลิตในไทย แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่กลับมาผลิตได้เท่าเดิมก่อนเกิดปัญหาอุทกภัย

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤศจิกายน 2555มีมูลค่า 4,552.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.33 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.08 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,902.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 3.13 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.31 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 280.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.33 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนแต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ เครื่องรับโทรทัศน์สี มีมูลค่าส่งออก 162.08ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.38 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ33.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,650.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.78 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 80.74 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออก 1,583.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 4.07 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 159.86 เนื่องจากราคามีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับวงจรรวมและไมโครแอสแซมบลีมีมูลค่าส่งออก 537.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 0.81 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.26 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้ฐานมูลค่าการส่งออกของปีที่แล้วค่อนข้างต่ำ

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนธันวาคม 2555คาดการณ์ว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ30เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ