สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 1, 2013 13:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวม ไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ชะลอตัวลงจากการส่งออก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และการชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในจีน นอกจากนี้อุตสาหกรรมยางยานพาหนะได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ความต้องการในตลาดอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งสามารถทดแทนการส่งออกที่ลดลงได้

แนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มจะปรับตัวดีขึ้น แต่คาดว่าจะยังคงมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมยางล้อคาดว่าจะมีปัจจัยบวกจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะขยายตัวได้ดีเนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นทั้งทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน สำหรับราคายางคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และอุปทานยางธรรมชาติกำลังจะลดลง เนื่องจากกำลังจะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.64 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.48 ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ประกอบด้วย ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานและยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อปรับตัวเพิ่มทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเทียบจากฐานการผลิตที่ต่ำมากจากปัญหาอุทกภัย สำหรับการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.28 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.31

เมื่อมองภาพรวมทั้งปี 2555 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ลดลงร้อยละ 8.93 สำหรับผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือว่าขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย ประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรตาม การผลิตผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากตลาดในอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 13.70 และ 10.43 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางล้อในประเทศ ประกอบด้วยยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นในส่วนของยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ และยางหล่อดอก สำหรับในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.72 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 2.83

เมื่อมองภาพรวมทั้งปี 2555 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.33 สำหรับผลิตภัณฑ์ยางล้อ รวมทั้งถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ในส่วนของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้นและยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 2,065.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.84 แต่เมื่อเทียบกับปีก่อน และภาพรวมทั้งปี 2555 ลดลงร้อยละ 30.63 และ 33.62 ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และการชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศจีน ทำให้จีนซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญ ลดการซื้อยางพาราแปรรูปลง นอกจากนี้ การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นไปยังจีนที่ลดลง สาเหตุหนึ่งเกิดจากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางขั้นต้นของไทยบางรายผลิตและส่งออกยางคอมพาวนด์แทนยางแท่ง เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า สำหรับตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ ประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก1,947.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และภาพรวมทั้งปี 2555 มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.27 6.55 และ 1.87 ตามลำดับ โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ สาเหตุหนึ่งเกิดจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยได้ตัดสิทธิ GSP ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้ามาแล้วอย่างน้อย 5 ปี และมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเกินเพดาน ในปี 2554 คือ 225 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจยังขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทดแทนการส่งออกที่ลดลงได้ รวมทั้งถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังคงได้รับสิทธิ GSP ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกหลักที่สำคัญเช่นกัน โดยตลาดส่งออกสำคัญของผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 การนำเข้ายาง รวมเศษยาง มีมูลค่า 315.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 20.22 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและภาพรวมทั้งปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.76 และ 13.97 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนังยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 332.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง 12.16 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และภาพรวมทั้งปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.51 และ 23.51 ตามลำดับ

การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกรอบข้อตกลง FTA ส่งผลให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีนสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี

ราคาสินค้า

ราคายางไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ยังทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกทำให้การบริโภคยางพาราอยู่ในระดับต่ำ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. นโยบายการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคายาง เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ เป็นการดึงปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาด เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของยางและผลักให้ราคายางเพิ่มขึ้น

2. กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมยางในขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนายางต้นน้ำตามยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 — 2556ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 อย่างไรก็ตาม ไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณ

ในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราสู่มาตรฐานสากล และโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อมองในภาพรวมทั้งปี 2555 ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ซึ่งขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นปรับตัวลดลง เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลง

ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้ตัดสิทธิ GSP ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทดแทนการส่งออกที่ลดลงได้

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากกระแสวิตกกังวลเรื่องสุขภาพอนามัย และเป็นสินค้าจำเป็นทั้งทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมทั้งประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากเกินไป

สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ยังมีความผันผวนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลในด้านลบต่อราคายาง คือ ราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าและราคาน้ำมันที่ลดลงรวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลกอย่างไรก็ตาม คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และอุปทานยางธรรมชาติกำลังจะลดลง เนื่องจากฤดูยางผลัดใบกำลังจะมาถึง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่น่ากังวลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางของไทยในระยะต่อไป คือ ร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมร่าง พรบ.ฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่าง พรบ.ฯ นี้ มีแนวโน้มว่าจะเปิดช่องให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย สามารถประกาศเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกจากผลิตภัณฑ์ยางประเภทใดก็ได้ ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศไทย และจะส่งผลต่อการพิจารณาการย้ายการลงทุนของบริษัทข้ามชาติจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่น เนื่องจากความไม่แน่นอนของกฏระเบียบภาครัฐจาก พรบ.การยางแหง่ ประเทศไทยฯ ที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมในการลงทุนและประกอบกิจการในประเทศไทยซึ่งจะส่งผลให้ความพยายามในการส่งเสริมการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ตามความคาดหวังของรัฐบาล

ที่มา : สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง

หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่เก็บข้อมูล

  • ผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกรถแทรกเตอร์ มีจำนวน 5 โรงงาน
  • ยางนอกรถกระบะ มีจำนวน 4 โรงงาน
  • ยางนอก ยางใน รถบรรทุกและรถโดยสาร มีจำนวน 8 โรงงาน
  • ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 10 โรงงาน
  • ยางนอกและยางในรถจักรยาน และยางนอกอื่นๆ มีจำนวน 6 โรงงาน
  • ยางรอง ยางหล่อดอก ถุงมือยางถุงมือตรวจ มีจำนวน 7 โรงงาน
  • ยางรัดของ มีจำนวน 4 โรงงาน
  • ยางแผ่น มีจำนวน 16 โรงงาน
  • ยางแท่งมีจำนวน 14 โรงงาน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ