สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 (มกราคม — มีนาคม 2556)(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 15:04 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ต้นทุนการผลิต ทั้งวัตถุดิบไม้ ค่าขนส่ง และโดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งงผลกระทบต่อ่อการผลิตไม้และเครื่องเรือน และสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของตลาดส่ง่งออกหลักของไทย ก็ยังคงส่ง่งผลกระทบต่อ่อการส่ง่งออกสินค้าไม้และเครื่องเรือน

การผลิต

การผลิตไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2556 มีปริมาณ 1.97 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 7.51 และ 10.05 ตามลำดับ เนื่องจากต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบไม้ ค่าขนส่ง และโดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการผลิต และความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2556 มีปริมาณ 1.09 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.68 และ 4.39 ตามลำดับ เนื่องจากไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้มีการซื้อเครื่องเรือนใหม่หลังน้ำท่วมใหญ่เหมือนปีก่อนหน้า อีกทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังและชะลอการใช้จ่ายออกไป การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 725.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 3.90 และ 2.61 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ยังชะลอตัว สำหรับรายละเอียดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 236.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 9.85 แต่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.52 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 47.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 16.35 และ 12.95 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้

3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัดไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 441.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.31 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.97 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป

การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 177.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.92 และ 3.24 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และสหรัฐอเมริกา ไม้อัดและไม้วีเนียร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และเมียนมาร์ และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ และมาเลเซีย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

การปรับค่าแรงงาน 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น นอกจากนี้ การออกกฎระเบียบข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของสหภาพยุโรป จากมาตรการ FLEGT EU ที่ต้องแสดงแหล่งที่มาของไม้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไม้และเครื่องเรือนของไทยไปยังสหภาพยุโรป

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2556 ลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิต ทั้งวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และโดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการผลิต และจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังและชะลอการใช้จ่ายออกไป

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2556 ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ยังชะลอตัวสำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2556 เพิ่มขึ้น จากการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องเรือน

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2556 มีแนวโน้มทรงตัวจากผลกระทบของต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรง อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีแนวโน้มลงทุนเพื่อปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อทดแทนผลกระทบจากค่าแรงและจากการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า จะทำให้ความต้องการเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2556 มีแนวโน้มทรงตัวเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ยังมีความเปราะบาง และจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ และน่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวก คือการส่งออกไปญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดหลัก เริ่มดีขึ้น จากสภาวะเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งความต้องการสินค้าในตลาดรองแถบเอเชียที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศแถบเอเซียใต้ รวมทั้งประเทศแถบตะวันออกกลาง และตลาดประเทศเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น แอฟริกาใต้ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องเรือนเป็นสำคัญ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ